แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฎีกาจำเลยที่ว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ไม่ชอบด้วยเหตุผลโดยให้เหตุผลคนละอย่างกับที่จำเลยเคยให้ไว้ในคำแถลงคัดค้านและในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้ง คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1ย่อมเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 การที่อธิบดีกรมสรรพากรโจทก์มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฟ้องคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆในศาล มิใช่การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนอันจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและทำเป็นคำสั่งและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่บัญญัติไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ข้อ 42ฉะนั้นเมื่ออธิบดีกรมโจทก์มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ แทนโจทก์โดยปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 แล้วผู้รับมอบอำนาจจึงชอบที่จะฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ แทนโจทก์ได้ จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากโจทก์แล้ว จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และไม่ชำระหนี้ค่าภาษีอากรเมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานจึงถึงที่สุด และเมื่อจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวโจทก์ย่อมมีอำนาจที่จะบังคับจำเลยได้เช่นเดียวกับหนี้ที่เกิดจากคำพิพากษา จำเลยจะกล่าวอ้างว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบอีกไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลัง มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรโจทก์มอบอำนาจให้นางสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาดำเนินการฟ้องคดีแทนจำเลยเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัดเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยเสียภาษีการค้าภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ครบถ้วนจึงได้มีหมายเรียกให้จำเลยมารับทำการตรวจสอบภาษีการค้าภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการตรวจสอบบัญชีเอกสารหลักฐานของจำเลย ปรากฏว่าในรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างปี พ.ศ. 2522 ถึง 2523 จำเลยเสียภาษีการค้าภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ครบถ้วนเจ้าพนักงานประเมินจึงได้ทำการประเมินภาษีการค้า ปี พ.ศ. 2522ใหม่ จำเลยมีรายรับจากการรับจ้างทำของในปี พ.ศ. 2522เป็นเงิน 19,280,000 บาท ซึ่งจำเลยต้องเสียภาษีการค้าร้อยละ2 ของรายรับ และภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของภาษีการค้าเป็นเงินภาษีการค้า 375,600 บาท จำเลยชำระแล้ว 36,270 บาทขาดไป 349,330 บาท ต้องเสียเบี้ยปรับ 349,330 บาท และเงินเพิ่มอีก 204,018.90 บาท กับภาษีบำรุงเทศบาล 90,267.89 บาทเมื่อคิดภาษีถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2527 จำเลยต้องเสียภาษีการค้าที่ค้างชำระพร้อมเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลรวมทั้งสิ้น992,946.79 บาท และปี พ.ศ. 2523 จำเลยมีรายรับจากการรับจ้างทำของ 6,962,934.86 บาท ซึ่งจำเลยต้องเสียภาษีการค้าร้อยละ 2 ของรายรับและภาษีบำรุงเทศบาลร้อยละ 10 ของภาษีการค้า เป็นเงินภาษีการค้า 71,760.91 บาท จำเลยชำระแล้ว7,499.75 บาท ขาดไป 64,261.16 บาท ต้องเสียเบี้ยปรับ64,261.16 บาท และเงินเพิ่มอีก 32,131.87 บาท กับภาษีบำรุงเทศบาล 16,065.42 บาท เมื่อคิดภาษีถึงวันที่15 มิถุนายน 2527 จำเลยต้องเสียภาษีการค้าที่ค้างชำระพร้อมเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาล รวมทั้งสิ้น176,719.61 บาท ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2523 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2523 เมื่อปรับปรุงกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรแล้ว จำเลยมีกำไรสุทธิ1,202,767.97 บาท คิดเป้น*เงินภาษี 541,245.59 บาทจำเลยได้ชำระไว้ 4,506.36 บาท ต้องชำระเพิ่มอีก536,739.23 บาท กับเงินเพิ่มร้อยละ 20 ตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากรเป็นเงิน 107,347.85 บาท รวมเป็นเงิน644,087.08 บาท สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี พ.ศ. 2522จำเลยได้จ่ายเงินได้พึงประเมินโดยมิได้หักภาษีไว้ณ ที่จ่ายและนำส่งให้ครบถ้วน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินภาษี 72,249.69 บาท เงินเพิ่ม14,449.94 บาท รวมเป็นเงิน 86,699.63 บาท และปีพ.ศ.2523 เป็นเงินภาษี 47,712.84 บาท เงินเพิ่ม 9,542.57 บาทรวมเป็นเงิน 57,255.41 บาท รวม 2 ปี เป็นเงิน 143,955.04 บาทเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งจำเลยให้ทำการชำระภาษีการค้าภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งจำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2527 และมิได้อุทธรณ์การประเมินภาษีดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมาย กับมิได้ชำระเงินภาษีอากรให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงมีหนังสือเตือนไปยังจำเลยให้จัดการชำระภาษีอากรแก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2527 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2527 จำเลยได้รับหนังสือเตือนทั้งสองฉบับเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2527 และวันที่ 18 กันยายน 2527แต่จำเลยเพิกเฉยจำเลยจึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลและเสียเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิ สำหรับภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาล รวมค่าภาษีการค้าภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 2,263,357.06 บาทโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันและจำเลยได้รับแล้วแต่ไม่ชำระหนี้ ทั้งจำเลยได้ปิดสถานที่ประกอบธุรกิจโดยมิได้ประกอบกิจการค้าต่อไป และไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จำเลยจึงเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยเป็นหนี้โจทก์กำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่าห้าแสนบาทขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายต่อไป
จำเลยให้การว่า หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถือเสมือนว่าไม่มีการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีนายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์อ้างว่าได้ทำการประเมินภาษีและแจ้งการประเมินภาษีกับแจ้งให้จำเลยนำเงินไปชำระภาษีอากรเพิ่มนั้นจำเลยไม่ทราบจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามที่โจทก์ประเมินถ้าหากจำเลยได้ทราบผลการประเมินภาษีอากรดังกล่าว จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เพราะผลการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรไม่เป็นไปตามความเป็นจริงจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือเตือนให้ไปชำระภาษีอากรตามฟ้องกิจการค้าหลักของจำเลยคือการรับจ้างตัด ฟัน ชักลากไม้จากบริษัทผู้รับสัมปทานทำไม้ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ในระยะปีพ.ศ. 2520 ตลอดมาจนถึงวันให้การบริษัทผู้รับสัมปทานทำไม้ในเขตจังหวัดนครราชสีมาไม่ได้รับอนุญาตให้นำไม้ออกเนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดป่า เป็นเหตุให้จำเลยไม่มีโอกาสรับจ้างตัดฟันไม้ หรือเป็นลูกช่วงทำไม้ไปด้วย กิจการของจำเลยจึงต้องชะงักชั่วคราว หากฟังว่าจำเลยค้างชำระภาษีอากรจริงจำเลยก็มีรายได้พอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ จำเลยจึงไม่ใช่ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 4ไม่ชอบด้วยเหตุผล หากศาลอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมได้แล้ว จำเลยก็สามารถนำพยานเข้าสืบให้เป็นที่ประจักษ์แก่ศาลได้ว่า ทรัพย์สินของจำเลยยังมีอยู่และมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 5,000,000 บาท จำเลยจึงมิใช่เป็นผู้หนี้สินล้นพ้นตัว นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้น ไม่อนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 4 เพราะเห็นว่า ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็น จำเลยแถลงคัดค้านและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นว่า บัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ของจำเลยเกี่ยวข้องกับประเด็นโดยตรงและเป็นพยานสำคัญในคดี โดยให้เหตุผลเหมือนกันว่า หากศาลเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีโดยนำพยานหลักฐานที่ระบุเพิ่มเติมครั้งที่ 4 เข้าสืบ จะทำให้ศาลเห็นว่าการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะราคาค่าซื้อขายไม้ที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาคำนวณเป็นรายรับของจำเลยนั้นเป็นไม้ที่จำเลยยังนำออกมาจำหน่ายไม่ได้ เนื่องจากมีคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 32/2532 ห้ามเข้าทำไม้และเคลื่อนย้ายไม้โดยเด็ดขาดศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 4 โดยอ้างว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นชอบด้วยเหตุผลแล้วการที่จำเลยฎีกาว่าคึำ*สั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ไม่ชอบด้วยเหตุผล โดยให้เหตุผลคนละอย่างกับที่จำเลยเคยให้ไว้ในคำแถลงคัดค้านและในชั้นอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะอธิบดีกรมโจทก์มอบอำนาจให้นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาฟ้องคดี โดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย การฟ้องคดีเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติราชการจะมอบอำนาจให้ดำเนินคดีอย่างคู่ความธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60ไม่ได้ นั้นเห็นว่า การที่อธิบดีกรมโจทก์มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฟ้องคดีและการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆในศาล มิใช่การมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนอันจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและทำเป็นคำสั่งและประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามที่บัญญัติไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ข้อ 42ซึ่งใช้บังคับในขณะมอบอำนาจฉะนั้นเมื่ออธิบดีกรมโจทก์มอบอำนาจให้นายสมบูรณ์ ไทยวัชรามาศผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆ แทนโจทก์ โดยปฏิบัติถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 แล้วผู้รับมอบอำนาจจึงชอบที่จะฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาอื่น ๆแทนโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินภาษีอากร จำนวนเงินภาษีอากรที่โจทก์เรียกร้องเพิ่มจากจำเลยเป็นมูลหนี้ที่ขัดต่อกฎหมาย ถือเสมือนว่าไม่มีมูลหนี้ต่อกัน จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว นั้น เห็นว่า หนี้ที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องจำเลยเป็นหนี้ค่าภาษีอากรซึ่งโจทก์นำสืบว่า นายฉัตรชัย สุคนธเมธีรัตน์ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยได้รับทราบผลการตรวจสอบและได้ลงชื่อยินยอมชำระค่าภาษีตามผลการตรวจสอบแล้ว และสรรพากรเขต 3 จังหวัดนครราชสีมา ยังได้ส่งแบบแจ้งการประเมินภาษีอากร ดังกล่าวแก่จำเลยด้วย จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีอากร แล้วไม่อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และไม่ชำระหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าว ข้อนำสืบของโจทก์ข้อนี้โจทก์มีนายกิตติพร สัมมาชีพ เจ้าหน้าที่สรรพากรนายวินัย ประกอบพานิช เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีและนายพิชิต สนองชาติ นิติกร เป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันและโจทก์ยังมีพยานเอกสาร คือ บันทึกคำให้การและข้อตกลงยินยอมชำระค่าภาษีอากรของนายฉัตรชัยเอกสารหมาย จ.40 และจ.41 แบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า หนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย เอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4ใบรับแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.5 ประกอบอีกด้วยส่วนพยานหลักฐานของจำเลยคงมีนายสมพงษ์ ศิริวิโรจน์กรรมการบริษัทจำเลยเพียงปากเดียวเบิกความว่า นายฉัตรชัยและนางกาญจนไม่ใช่พนักงานของจำเลย จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือและแบบแจ้งการประเมินจากโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานของจำเลยข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า หนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนังสือแจ้ง การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากโจทก์แล้วจำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และไม่ชำระหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าว เมื่อจำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหักณ ที่จ่ายแล้วไม่อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานจึงถึงที่สุด และเมื่อจำเลยไม่ยอมชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าว โจทก์ย่อมมีอำนาจที่จะบังคับเอากับจำเลยได้เช่นเดียวกับ หนี้ที่เกิดจากคำพิพากษา จำเลยจะกล่าวอ้างว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบอีกไม่ได้”
พิพากษายืน