คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยและทายาททุกคนทราบดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของเจ้ามรดกตามคำพิพากษาตามยอมที่ตกลงแบ่งที่ดินพิพาทให้เจ้ามรดกในคดีที่เจ้ามรดกฟ้องโจทก์ทั้งสี่เป็นจำเลยขอถอนคืนการให้ เจ้ามรดกได้ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินไว้ยังไม่เสร็จก็ถึงแก่กรรม ไม่มีทายาทเจ้าดำเนินการต่อ การที่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาทได้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอยกเลิกคำขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทไม่มีผลเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกจึงหาใช่การยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลไม่ และเมื่อจำเลยร้องขอเข้าเป็นผู้จัดการมรดกและศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทของเจ้ามรดกแล้ว จำเลยได้ขอเข้ารับมรดกความและบังคับคดีจนดำเนินการเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเช่นนี้ แม้โจทก์ทั้งสี่จะเคยคัดค้านต่อศาลในชั้นบังคับคดีอ้างว่าจำเลยขอบังคับคดีเกินกำหนดอายุความแล้ว ก็เป็นการที่โจทก์ทั้งสี่ใช้สิทธิทางศาลตามที่ตนเป็นทายาทโดยชอบหาใช่ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลไม่เช่นเดียวกันจึงไม่เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ถูกกำจัดมรดก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันและเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของสิบโทล้วน รักสอาดบิดาซึ่งถึงแก่กรรมไม่ได้ทำพินัยกรรม มีทรัพย์สินคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 674 เนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา โดยโจทก์ทั้งสี่มีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่ด้วย มีส่วนของสิบโทล้วน เพียง600 ส่วน ในจำนวน 2,625 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งานต้องตกแก่ทายาท 7 คน คนละเท่า ๆ กัน โดยตกเป็นของโจทก์4 ใน 7 ส่วน ต่อมาจำเลยได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งศาลได้มีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยได้นำโฉนดไปยื่นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้ลงชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกในที่ดินเฉพาะส่วนของสิบโทล้วน เจ้าพนักงานที่ดินได้ลงชื่อจำเลยในโฉนด จากนั้นจำเลยได้บอกขายที่ดินไปขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของสิบโทล้วน และในฐานะส่วนตัวแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 694 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งานทางด้านทิศใต้ให้โจทก์ทั้งสี่คนละ 1 ใน 7 ส่วน ถ้าการแบ่งไม่ตกลงกันขอให้ยึดที่ดินทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดเงินแบ่งกันตามส่วน
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสี่ได้ยักยอกหรือปิดบังทรัพย์สินมรดกมากกว่าโจทก์ทั้งสี่จะได้รับโดยฉ้อฉลต้องถูกกำกัดมิให้ได้รับมรดกเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 694 เนื้อที่1 ไร่ 2 งาน ออกให้นางละมูล รักสอาด กึ่งหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลืออีกกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดก แต่เนื่องจากต้องนำทรัพย์มรดกชำระหนี้ค่าใช้จ่ายงานศพแก่จำเลย จึงให้นำที่ดินทรัพย์มรดกจำนวนกึ่งหนึ่งออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้หักเป็นค่าจัดการศพ จำนวน 6,683 บาท ชำระให้แก่จำเลยส่วนที่เหลือให้แบ่งแก่โจทก์คนละหนึ่งในแปดส่วนเท่า ๆ กัน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมเจ้ามรดกยกที่ดินโฉนดเลขที่ 694ให้โจทก์ทั้งสี่ ต่อมาเจ้ามรดกฟ้องขอถอนคืนการให้ โจทก์ทั้งสี่ตกลงยอมความแบ่งที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งานซึ่งเป็นที่ดินพิพาทให้แก่เจ้ามรดก และศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาว่าโจทก์ทั้งสี่ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลอันจะเป็นเหตุให้ถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหรือไม่เห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสี่ยื่นคำขอยกเลิกคำขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทของเจ้ามรดกตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย ล.2 นั้น จำเลยและทายาททุกคนทราบดีว่าที่ดินพิพาทเป็นของเจ้ามรดกตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 124/2517 ของศาลจังหวัดอ่างทอง ต่อมาเจ้ามรดกถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2518 ไม่มีทายาทเข้าดำเนินการ การที่โจทก์ทั้งสี่ได้ยื่นคำขอยกเลิกคำขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทของเจ้ามรดกตามเอกสารหมาย ล.2 นั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดก การกระทำดังกล่าวหาใช่การยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลไม่ เมื่อจำเลยร้องขอเข้าเป็นผู้จัดการมรดก และศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทของเจ้ามรดก จำเลยขอเข้ารับมรดกความและบังคับคดีจนดำเนินการเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกเช่นนี้ แม้โจทก์ทั้งสี่จะเคยคัดค้านต่อศาลในชั้นบังคับคดีอ้างว่าจำเลยขอบังคับคดีเกินกำหนดอายุความแล้ว ก็เป็นการที่โจทก์ทั้งสี่ใช้สิทธิทางศาลตามที่ตนเป็นทายาทโดยชอบ หาใช่ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลไม่เช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share