คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่า ช. ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำผิด พระราชบัญญัติ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 26 และ บ. ซึ่งเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดกระทำผิด พระราชบัญญัติเลือกตั้งฯ มาตรา 26 และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 165 โจทก์ได้ร้องเรียนไปยังจำเลยทั้งห้า ให้มีการสอบสวนดำเนินคดีกับ ช. และ บ. และจำเลยทั้งห้ามิได้ดำเนินคดีกับบุคคลทั้งสองขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 165, 200 เช่นนี้ เมื่อโจทก์มิใช่บุคคล ที่อาจร้องคัดค้านการเลือกตั้งได้ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฯ มาตรา 78 จึงมิใช่ ผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้เสียหายเนื่องจากการกระทำผิดพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฯ มาตรา 26 ดังนั้นการที่โจทก์ร้องเรียนต่อจำเลยทั้งห้าให้ดำเนินคดีกับ ช. และ บ. และจำเลยทั้งห้ามิได้ดำเนินคดี กับบุคคลทั้งสองเมื่อ โจทก์มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในกรณีที่ ช. และ บ. กระทำผิดดังกล่าวโจทก์ย่อมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย สำหรับความผิดที่โจทก์ ฟ้องจำเลยทั้งห้าด้วยโจทก์จึงไม่ มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องใจความว่า จำเลยทั้งห้าได้บังอาจร่วมกันกระทำผิดกฎหมายโดยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและหรือป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และราษฎรไทยทั่วประเทศ โดยเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐบาลได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๒๑ ขึ้นทั่วประเทศ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๒๒ อันเป็นวันเปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดบุรีรัมย์ นายชัย ชิดชอบ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านได้บังอาจไปใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งต่อนายบำรุง สุขบุษย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ โดยรู้อยู่ว่าตนเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๒๑ มาตรา ๙๖ (๗) และนายบำรุง สุขบุษย์ ซึ่งรู้อยู่แล้วว่านายชัย ชิดชอบ ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้บังอาจรับใบสมัครของนายชัย ชิดชอบ และเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๒ อันเป็นวันเลือกตั้ง นายบำรุง สุขบุษย์ ได้ประกาศให้ นายชัย ชิดชอบเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดบุรีรัมย์ เขตเลือกตั้งที่ ๑ โดยมิชอบ โจทก์ได้ทำการร้องทุกข์ต่อจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๔ ในฐานะนายกรัฐมนตรีให้สั่งการให้มีการดำเนินคดีกับนายชัย ชิดชอบ และนายบำรุง สุขบุษย์ แต่จำเลยที่๑ ที่ ๔ กลับส่งเรื่องให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ พิจารณา และจำเลยทั้งห้าไม่สั่งดำเนินคดีกับบุคคลทั้งสอง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๕ และ ๒๐๐
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์ฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๕ และ ๒๐๐ จึงต้องพิจารณาในเบื้องแรกก่อนว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) ได้นิยามความหมายของผู้เสียหายว่า”หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๔, ๕ และ ๖ สำหรับกรณีของนายชัย ชิดชอบ นั้น แม้ถึงหากจะฟังได้ว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๖ โดยสมัครรับเลือกตั้งทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครก็ตาม ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๘ ก็ได้บัญญัติว่าเฉพาะผู้เลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกสมัครรรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อศาลจังหวัดที่เขตเลือกตั้งนั้นตั้งอยู่ได้ แสดงว่ากฎหมายถือว่าบุคคล ๓ ประเภทดังกล่าวเท่านั้นที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้เสียหายเนื่องจากการกระทำผิดพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๖ มิใช่ราษฎรไทยทุกคนเป็นผู้เสียหายดังที่โจทก์เข้าใจ สำหรับนายบำรุง สุขบุษย์ ที่โจทก์อ้างว่ากระทำผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๖ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๕ ก็เช่นเดียวกัน ตามฎีกาของโจทก์ก็ยอมรับว่าโจทก์ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะฟ้องร้องนายชัย ชิดชอบและนายบำรุง สุขบุษย์ เองได้ ดังนั้นการที่โจทก์ไปร้องเรียนต่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ให้สั่งการให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ สอบสวนดำเนินคดีแก่นายชัย ชิดชอบ และนายบำรุง สุขบุษย์ ตามฟ้องและจำเลยทั้งห้ามิได้ดำเนินคดีแก่บุคคลทั้งสองตามที่โจทก์กล่าวหานั้นน เมื่อโจทก์มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในกรณีที่นายชัย ชิดชอบและนายบำรุง สุขบุษย์ กระทำความผิดตามที่โจทก์กล่าวหา โจทก์ย่อมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าด้วย จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share