แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์นำการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นการกระทำเดียวกันมาแยกฟ้องเป็น 2 คดี โดยแยกผู้เสียหายออกเป็น 2 กุล่ม กลุ่มละคดี เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในการกระทำของจำเลยดังกล่าวซึ่งเป็นความผิดที่โจทก์ได้ฟ้องไว้ในคดีหนึ่งไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในคดีนี้ย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างประมาณเดือนกรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2536 ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนติดต่อกันมาโดยตลอด จำเลยกับนายเสถียร จันทร์ศรีนวล นายคล้าย ป้องศรี จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 490/2537 ของศาลชั้นต้น กับพวกอีกหลายคนที่หลบหนีไป ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยกับพวกโดยทุจริตได้ร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ โดยประกาศโฆษณาแก่ประชาชนว่าจำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ มีตำแหน่งงานให้ทำหลายตำแหน่ง รายได้ดี สวัสดิการดี ใครต้องการไปทำงานให้สมัครได้ที่จำเลยกับพวกโดยต้องจ่ายค่าสมัคร ค่าบริการต่าง ๆ ให้แก่จำเลยกับพวก แล้วจำเลยกับพวกจะจัดส่งผู้สมัครไปทำงานที่ประเทศดังกล่าวตามความประสงค์ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยหาได้มีความสามารถส่งคนไปทำงานที่ประเทศดังกล่าวให้มีรายได้ดี สวัสดิการดีอย่างใดไม่ ด้วยการหลอกลวงตามวิธีการดังกล่าวเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวน 116 คน ตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหายท้ายฟ้องหลงเชื่อมาสมัครงานและจ่ายเงินให้จำเลยกับพวกตามรายการที่ผู้เสียหายแต่ละคนได้จ่ายไปท้ายฟ้องรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,187,000 บาท แล้วจำเลยกับพวกนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งหมดท้ายฟ้องซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามกฎหมาย จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2539 เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลบ้านเลื่อม และตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เกี่ยวพันกัน จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 742/2539 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83, 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30, 82 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 5,187,000 บาท แก่ผู้เสียหายทุกคน และนับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 742/2539 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฉ้อโกงประชาชน จำคุก 4 ปี ฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 5,187,000 บาท แก่ผู้เสียหายทุกคนในส่วนที่แต่ละคนได้รับความเสียหาย และให้นับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 742/2539 หมายเลขแดงที่ 1312/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศเป็น 2 คดี ด้วยกันคือ คดีหมายเลขดำที่ 742/2539 ของศาลชั้นต้น และคดีนี้โดยขอให้นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษในคดีดังกล่าว ซึ่งคดีดังกล่าวโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างประมาณเดือนกรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยกับนายเสถียร จันทร์ศรีนวล นายสมบัติ ชารีเชียงพิณ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 296/2537 นางไพบูลย์ หรืออุ้น มุ่งงาม นางองุ่น พหลเทพ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 365/2538 ของศาลชั้นต้นกับพวกอีกหลายคนที่หลบหนีไป ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ จำเลยกับพวกโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยประกาศโฆษณาแก่ประชาชนว่า จำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ มีตำแหน่งงานให้ทำหลายตำแหน่ง รายได้ดี สวัสดิการดี ใครต้องการไปทำงานให้ไปสมัครได้ที่จำเลยกับพวกโดยต้องจ่ายค่าสมัคร ค่าบริการต่าง ๆ ให้แก่จำเลยกับพวก แล้วจำเลยกับพวกจะจัดส่งผู้สมัครไปทำงานที่ประเทศดังกล่าวซึ่งเป็นเท็จ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกหาได้มีความสามารถส่งคนไปทำงานที่ประเทศดังกล่าวให้มีรายได้ดี สวัสดิการดีแต่อย่างใดไม่ ด้วยการหลอกลวงตามวิธีการดังกล่าวเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวน 343 คน ตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหายท้ายฟ้องหลงเชื่อไปสมัครงานและจ่ายเงินให้จำเลยกับพวกตามรายการที่ผู้เสียหายแต่ละคนได้จ่ายไปท้ายฟ้องรวมเป็นเงิน 16,185,000 บาท แล้วจำเลยกับพวกนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต และจำเลยกับพวกดังกล่าวร่วมกันจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งหมดท้ายฟ้องซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามกฎหมาย จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2539 เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลบ้านเลื่อม และตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 83, 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2538 มาตรา 30, 82 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 16,185,000 บาท แก่ผู้เสียหายทุกคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าฟ้องของโจทก์ในคดีนี้กับคดีดังกล่าวเหมือนกันแทบทุกประการ เป็นการฟ้องในฐานความผิดเดียวกัน โดยวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดทั้ง 2 คดี เป็นช่วงเวลาเดียวกัน แสดงว่าการประกาศโฆษณาให้ประชาชนรวมทั้งผู้เสียหายทั้ง 2 คดีนี้หลงเชื่อยอมจ่ายเงินให้จำเลยกับพวกเป็นการประกาศโฆษณาครั้งเดียวกัน สถานที่เกิดเหตุทั้ง 2 คดี ก็เป็นสถานที่เดียวกัน จะแตกต่างกันก็เฉพาะผู้เสียหายในคดีนี้กับในคดีดังกล่าวเป็นผู้เสียหายต่างรายกันเท่านั้น ทั้งทางนำสืบของโจทก์ในคดีนี้และคดีดังกล่าวก็ปรากฏว่าการกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 2 คดี จำเลยกระทำความผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ตรีท็อป โดยจำเลยเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว และยังมีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยอีกหลายคนเป็นอย่างเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์นำการกระทำของจำเลยซึ่งโจทก์กล่าวหาว่าเป็นความผิดอันเป็นการกระทำเดียวกันมาแยกฟ้องเป็น 2 คดี โดยแยกผู้เสียหายออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละคดีเท่านั้น เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในการกระทำของจำเลยดังกล่าวซึ่งเป็นความผิดที่โจทก์ได้ฟ้องไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 742/2539 และหมายเลขแดงที่ 1312/2544 ของศาลชั้นต้นไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในคดีนี้ย่อมระงับไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) จึงต้องยกฟ้องของโจทก์คดีนี้เสีย ปัญหาข้อนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์และจำเลยต่อไปอีก”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ประกอบมาตรา 83 และคำขออื่นของโจทก์เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4