คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5847/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 ได้บัญญัติถึงกระบวนการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลไว้ให้ต้องปฏิบัติ การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ทันทีและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้นไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ปัญหานี้แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 19765 ตำบลเทพมงคล (บางซ้ายนอก) อำเภอบางซ้าย (เสนากลาง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ 50 ไร่ 87 ตารางวา โดยซื้อมาจากนางบำรุง เถื่อนศิริ และนางอาภา เถื่อนศิริ นายสุนทร บุญสูตร และนายบุญช่วย จั่นวิจิตร เคยเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายบำรุงและนางอาภาทำนา ต่อมานายสุนทรและนายบุญช่วยได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลเทพมงคลขอทำนาในที่ดินพิพาทโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลเทพมงคลพิจารณาแล้วมีมติว่า นายสุนทรและนายบุญช่วยไม่เป็นผู้เช่านาแต่จำเลยมีมติว่าบุคคลทั้งสองเป็นผู้เช่านาและไม่ได้บอกเลิกการเช่านาตามพระราชบัญญํติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 โจทก์ทั้งสองเห็นว่าเป็นมติที่ไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนมติของจำเลยในการประชุมครั้งที่ 3/2546 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2546
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองแล้ววินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นคำสั่งขององค์กรฝ่ายปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและให้จำหน่ายคดี คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้น ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่าคดีของโจทก์ทั้งสองอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 กำหนดว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าศาลเห็นเองว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่ศาลนั้นเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ถ้าศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลที่ส่งความเห็นให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลนั้น หรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ แต่ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติถึงกระบวนการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล กล่าวคือ หากศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลยุติธรรมเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่ศาลปกครองกลาง ศาลชั้นต้นต้องจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองกลาง หากศาลปกครองกลางเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองกลาง ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะโอนคดีไปยังศาลปกครองกลางหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง แต่ถ้าศาลปกครองกลางมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้ ศาลชั้นต้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลใดต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ทันทีและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้น ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้น ปัญหานี้แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และ 247 ฎีกาของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่สั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่

Share