คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 594/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดก็ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยยื่นคำร้องขอถอนข้อต่อสู้เดิมตามฎีกาที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง คำร้องของจำเลยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง ที่บัญญัติให้กระทำได้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ส่วนที่จำเลยขอแก้ไขฎีกาที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เป็นการขอแก้ไขฎีกาโดยมิได้เพิ่มเติมประเด็นใหม่ แต่เป็นการสละข้อต่อสู้ในชั้นฎีกา ไม่ใช่การคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงไม่ตกอยู่ในจำกัดเวลาฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขฎีกาได้แม้พ้นกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธเป็นให้การใหม่รับสารภาพ และขอแก้ฎีกาของจำเลยในส่วนที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่หากเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 13 มกราคม 2548 ขอถอนข้อต่อสู้เดิมตามฎีกาที่ให้การปฏิเสธและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง ดังนี้ เห็นว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ทำได้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา จึงให้ยกคำร้องส่วนนี้ สำหรับคำร้องดังกล่าวในส่วนที่จำเลยขอแก้ไขฎีกาที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง เป็นการขอแก้ไขฎีกาโดยมิได้เพิ่มเติมประเด็นใหม่ แต่เป็นการสละข้อต่อสู้ในชั้นฎีกา ไม่ใช่การคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงไม่อยู่ในจำกัดเวลาฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเมื่อพ้นกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2546 ซึ่งเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ จึงอนุญาตและมีผลให้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ควรลงโทษจำเลยสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยในอัตราโทษขั้นต่ำของกฎหมายแล้ว ไม่อาจลงโทษให้ต่ำกว่านี้ได้อีก ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า ทรัพย์ที่เสียหายมีมูลค่าไม่มาก จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ปัจจุบันได้ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งมีรายได้พอสมควรแก่การดำรงชีพโดยผู้บังคับบัญชารับรองความประพฤติให้ ทั้งจำเลยเคยช่วยเหลือสังคม และยังมีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ จำเลยน่าจะเป็นพลเมืองดีต่อไปได้ การลงโทษถึงขั้นจำคุกจำเลยน่าจะไม่เหมาะสมเพราะไม่เป็นประโยชน์แก่สังคม จำเลยและครอบครัว จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยสักครั้งหนึ่งด้วยการรอการลงโทษจำคุกให้ แต่เพื่อให้หลาบจำให้ลงโทษปรับจำเลยและคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 9,000 บาท อีกสถานหนึ่ง จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในระยะเวลา 1 ปี และให้จำเลยทำงานบริการสังคมตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 5 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share