แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้ร้องร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่าง จ.กับพวกผู้รับโอน และจำเลยผู้โอน ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 114 แม้จะเป็นอำนาจของผู้ร้องและก่อนยื่นคำร้องขอต่อศาล ผู้ร้องได้สอบสวนข้อเท็จจริงเบี้องต้นได้ความว่าอยู่ในข่ายที่จะเพิกถอนได้ก็ตาม แต่เมื่อคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นและตามมาตรา 114 หากผู้รับโอนกระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ก็เพิกถอนการโอนไม่ได้ กรณีจึงยังไม่แน่นอนว่าจะเพิกถอนการโอนได้หรือไม่ การที่ จ. ขอยุติข้อพิพาทโดยเสนอให้เงินจำนวน1,200,000 บาท แทนการโอนที่ดินแก่กองทรัพย์สินของจำเลย เป็นการขอประนีประนอมยอมความ ซึ่งผู้ร้องจะประนีประนอมยอมความได้ ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายพ.ศ.2483 มาตรา 145 ประกอบด้วยมาตรา 41 การที่ผู้ร้องนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่สามเพื่อพิจารณาว่าจะยอมรับข้อเสนอของ จ. หรือไม่เป็นการขอความเห็นชอบของที่ประชุมเจ้าหนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว และเป็นการปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของจำเลยในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 32 ดังนี้ เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับข้อเสนอของ จ. และไม่คัดค้านที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอเพิกถอนการโอนต่อศาล ซึ่งเท่ากับเป็นการให้ความเห็นชอบในการที่ผู้ร้องจะประนีประนอม-ยอมความกับ จ. จึงหาเป็นล่วงอำนาจของผู้ร้องไม่ แม้เจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จะมีจำนวนถึง 57 ราย แต่เมื่อวันนัดประชุมเจ้าหนี้มีเจ้าหนี้มาประชุม 15 รายและที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ กรณีก็หาใช่เป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างน้อยไม่
ในการรับโอนที่ดิน จ.ได้ชำระเงินไถ่ถอนจำนองที่ดินให้แก่ผู้รับจำนองเป็นเงิน 2,375,000 บาท และได้ชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้แก่จำเลยอีก1,000,000 บาท แสดงว่า จ. รับโอนที่ดินโดยมีค่าตอบแทน และเมื่อรวมกับจำนวนเงินที่ จ.เสนอใช้เพื่อยุติข้อพิพาทเป็นเงิน 1,200,000 บาท แล้วยังเกินกว่าราคาที่ดินที่ผู้ร้องตีไว้เสียอีก โดยผู้ร้องตีราคาที่ดินไว้ 4,500,000 บาทแม้ที่ จ.ได้ชำระเงินไถ่ถอนจำนองที่ดิน และค่าซื้อที่ดินนั้นจะเกิดขึ้นก่อนจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ก็นำมาประกอบการพิจารณาข้อเสนอของ จ.ได้ เมื่อจ. รับโอนโดยมีค่าตอบแทน และเมื่อรวมกับจำนวนเงินตามข้อเสนอแล้วเป็นเงินเกินกว่าราคาที่ผู้ร้องตีไว้ ก็นับว่าข้อเสนอของ จ. เป็นประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย มติของที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ยอมรับข้อเสนอของ จ.จึงไม่ขัดต่อกฎหมายหรือประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย อันผู้ร้องจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตามมตินั้นตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 36 ได้