แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างอาคารเรียน จำเลยได้รับมอบงานตอกเสาเข็มซึ่งเป็นงานในงวดที่ 1 และจ่ายค่าจ้างตามงวดเรียบร้อยแล้วโดยไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งว่าโจทก์ทำงานไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นจำเลยรับมอบงานก่อสร้างทั้งหมด เพียงแต่หักเงินค่าเสาเข็มเมื่อจ่ายเงินค่าจ้างงวดที่ 4 เมื่อโจทก์มิได้ผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินค่าเสาเข็ม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ทำการก่อสร้างอาคารเรียน จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าจ้าง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๕๒๑,๑๗๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๖ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ ๕,๐๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จากคำพยานโจทก์และพยานจำเลยรับว่าตามสัญญาก่อสร้างโจทก์ต้องทำตามแบบก่อสร้างและรายละเอียดประกอบแบบก่อสร้าง ซึ่งรายละเอียดประกอบแบบก่อสร้างถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาก่อสร้าง ตามแบบก่อสร้างแผ่นที่ ๗ ระบุขนาดเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงไว้ว่า ๒๒ คูณ ๒๒ เซนติเมตร โดยไม่ได้ระบุความยาวไว้ แต่มีเงื่อนไขว่าเสาเข็มแต่ละต้นต้องรับน้ำหนัก ๓๐ เมตริกตัน กรณีความยาวของเสาเข็มจึงต้องพิจารณารายละเอียดประกอบแบบก่อสร้างหน้า ๑๔ ซึ่งตามหัวข้อ ๔. การตอกเสาเข็ม ข้อย่อย ๔.๔.๓ ระบุไว้ว่า การใช้เข็มคอนกรีตอัดแรง ชนิดยาว ๒๑ เมตร “ซึ่งจะระบุไว้ในแบบ” ถ้าหากตอกไม่ครบความยาวที่กำหนดให้ดำเนินการดังนี้
ต้องคิดเงินคืนให้แก่ราชการ แต่หากต้องใช้เข็มคอนกรีตยาวเกินกำหนด ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบเพิ่มค่าใช้จ่ายเอง ยกเว้นกรณีที่ใช้เข็มยาวมากขึ้นจนผิดปกติ และในข้อ ๔.๕ (หน้า ๑๕) ฐานรากอาคาร ข้อย่อย ๔.๕.๓ ฐานรากชนิดเข็มยาว
เข็มที่ใช้ต้องมีความยาวตั้งแต่ ๖ เมตร ขึ้นไปจากใต้ฐานราก ฉะนั้น เมื่อแบบก่อสร้างไม่ได้ระบุความยาวของเสาเข็มไว้จะแปลความในรายละเอียดประกอบแบบก่อสร้างว่าจะต้องใช้เสาเข็มยาว ๒๑ เมตร หาได้ไม่ นายเอกพงษ์ ฝาเงิน รักษาการหัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมของจำเลยในขณะก่อสร้างอาคารเป็นผู้ตรวจดูแลการตอกเสาเข็ม ได้ทำบันทึกรับรองว่าการตอกเสาเข็มของโจทก์เป็นไปตามหลักวิศวกรรม ถูกต้องตามมาตรฐาน เสาแต่ละต้นสามารถรับน้ำหนักได้ ๓๐ เมตริกตัน ตามเงื่อนไข จำเลยได้รับมอบงานตอกเสาเข็มซึ่งเป็นงานในงวดที่ ๑ และจ่ายค่าจ้างตามงวดเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษรว่าโจทก์ทำงานไม่ถูกต้องแต่ประการใด นอกจากนั้นจำเลยรับมอบงานก่อสร้างโรงเรียนทั้งหมด เพียงแต่หักเงินค่าเสาเข็มเมื่อจ่ายเงินค่าจ้างงวดที่ ๔ เมื่อฟังข้อเท็จจริงได้ว่าโจทก์ก่อสร้างตามแบบก่อสร้าง มิได้ผิดสัญญาแต่ประการใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินค่าเสาเข็ม ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ.