คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5928/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 รับฝากสินค้าอัญมณีจำพวกทับทิมและไพลินเจียระไนจากส. ซึ่งส่งเป็นพัสดุไปรษณีย์อากาศประเภทพัสดุไปรษณีย์ธรรมดา ไปยังผู้รับปลายทางที่สหรัฐอเมริกาเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคแรกที่บัญญัติให้ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2519 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 และไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2524 ซึ่งเป็นกฎหมายและข้อบังคับที่ใช้อยู่ในขณะที่มีการฝากส่งไปรษณีย์ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อ ส. มิได้จัดส่งพัสดุภัณฑ์ในประเภทพัสดุไปรษณีย์รับประกันและต่อมาพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวสูญหายไป ส. จึงมีสิทธิเพียงได้รับชดใช้ค่าเสียหายตามอัตราการชดใช้ค่าเสียหายในประเภทพัสดุไปรษณีย์ธรรมดาตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวกของไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2524 จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 522 บาท จำเลยที่ 1จะอ้างไม่ต้องรับผิดเนื่องจากมีข้อตกลงพัสดุไปรษณีย์ระหว่างการไปรษณีย์สหรัฐอเมริกาและการไปรษณีย์แห่งประเทศไทยตามไปรษณีย์นิเทศข้อ 393.6 และคำสั่งการสื่อสารแห่งประเทศไทยที่ 175/2525 เช่นนั้นไม่ได้ เพราะข้อตกลงดังกล่าวแม้จะทำขึ้นโดยอำนาจจากบทบัญญัติของกฎหมายแต่ก็หามีผลเช่นเดียวกันกับกฎหมายไม่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้ ส.ทราบว่าพัสดุไปรษณีย์ถึงสหรัฐอเมริกาชิ้นนี้หากสูญหายจะไม่ได้รับชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 จะยกเอาเหตุดังกล่าวมาเป็นข้อยกเว้นความรับผิดหาได้ไม่ การขนไปรษณีย์ภัณฑ์ในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษแล้ว จำนำบทบัญญัติเรื่องรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 4 หมวด 1 มาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยขนส่งทางอากาศอัญมณีไว้จำเลยทั้งสองไม่ใช้ความระมัดระวัง เป็นเหตุให้อัญมณีสูญหายโจทก์ใช้ค่าเสียหายให้ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย 800,000 บาทเศษ พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การว่าเหตุที่สูญหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ฝากส่งพัสดุศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 522 บาทพร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทเสนาอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ฝากส่งพัสดุไปรษณีย์ต่างประเทศในประเภทพัสดุไปรษณีย์ธรรมดาตามใบรับฝากพัสดุไปรษณีย์เอกสารหมาย จ.5 เพื่อให้ส่งไปยังผู้รับปลายทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วบริษัทเสนาอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต จำกัดได้ประกันภัยพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวไว้กับโจทก์เป็นเงิน 823,373.20บาท แต่พัสดุไปรษณีย์ที่ส่งไปนั้นสูญหายไป ไม่ถึงผู้รับโจทก์ได้ชำระค่าพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวให้แก่บริษัทผู้เอาประกันภัยตามจำนวนเงินที่รับประกันภัยแล้ว ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 วรรคแรก บัญญัติให้การขนไปรษณียภัณฑ์ในหน้าที่กรมไปรษณีย์โทรเลขอยู่ในบังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับทบวงการนั้น ๆ ดังนี้การที่บริษัทเสนาอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ฝากส่งพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477และไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2524 ซึ่งเป็นกฎหมายและข้อบังคับที่ใช้อยู่ในขณะที่มีการฝากส่งพัสดุไปรษณีย์นั้น บริษัทเสนาอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ได้ฝากส่งพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวในประเภทพัสดุไปรษณีย์ธรรมดา มิได้ฝากส่งในประเภทพัสดุไปรษณีย์รับประกันตามไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2524 ข้อ 167 อีกทั้งการที่บริษัทดังกล่าวระบุแจ้งราคาไว้ในแบบพิมพ์ใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.2 เป็นการระบุแจ้งเพื่อประโยชน์ของบริษัทดังกล่าวทางพิธีการศุลกากร หาใช่ระบุแจ้งราคาต่อจำเลยที่ 1ไม่ ผู้ฝากส่งพัสดุไปรษณีย์ต่างประเทศจะขอให้ส่งในประเภทพัสดุไปรษณีย์รับประกันได้เป็นจำนวนเงินตามราคาของสิ่งของที่บรรจุอยู่ภายใน โดยจะต้องแจ้งลักษณะและราคาที่แน่นอนของสิ่งที่บรรจุอยู่ภายในต่อเจ้าพนักงานไปรษณีย์และเสียค่าธรรมเนียมบริการพิเศษในอัตรา 4.00 บาท ต่อจำนวนเงินรับประกันทุก ๆ 100แฟรงก์ทองหรือเศษ (หรือทุก ๆ 870.00 บาท หรือเศษ) ตามไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2524 ข้อ 162 ประกอบกับภาคผนวกไปรษณีย์นิเทศดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียมบริการพิเศษ และอัตราการชดใช้ค่าเสียหายสำหรับพัสดุไปรษณีย์รับประกัน เมื่อบริษัทดังกล่าวได้ฝากส่งพัสดุไปรษณีย์ในประเภทพัสดุไปรษณีย์ธรรมดามิได้ขอให้จำเลยที่ 1 จัดส่งในประเภทพัสดุไปรษณีย์รับประกันเป็นจำนวนเงินตามราคาสิ่งของที่บรรจุอยู่ภายใน และต่อมาพัสดุไปรษณีย์ดังกล่าวสูญหายไป บริษัทดังกล่าวมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายตามอัตราการชดใช้ค่าเสียหายในประเภทพัสดุไปรษณีย์ธรรมดาตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวกไปรษณีย์นิเทศพ.ศ. 2524 ซึ่งระบุว่าจะต้องชดใช้อย่างสูงไม่เกิน 60 แฟรงก์ทองต่อน้ำหนักไม่เกิน 4 กิโลกรัม และอัตราค่าเสมอภาค 1 แฟรงก์ทองเท่ากับ 8.70 บาท ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายสำหรับพัสดุไปรษณีย์ของบริษัทดังกล่าวซึ่งมีน้ำหนัก 400 กรัมและสูญหายไปเป็นเงิน 522 บาท ข้อที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ต้องรับผิดเลยเพราะเป็นพัสดุไปรษณีย์ต่างประเทศธรรมดาที่ส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาตามไปรษณีย์นิเทศข้อ 393.6 คำสั่งการสื่อสารแห่งประเทศไทยที่ 175/2525 เรื่อง อัตราค่าไปรษณียากรพัสดุไปรษณีย์ต่างประเทศทางอากาศ ประกอบกับข้อตกลงพัสดุไปรษณีย์ระหว่างการไปรษณีย์สหรัฐอเมริกาและการไปรษณีย์แห่งประเทศไทยนั้น เห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวแม้จะทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจจากบทบัญญัติของกฎหมาย ก็หามีผลเช่นเดียวกับกฎหมายไม่ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1ได้แจ้งให้บริษัทเสนาอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ทราบว่าพัสดุไปรษณีย์ถึงประเทศสหรัฐอเมริกาชิ้นนี้ หากสูญเสียจะไม่ได้รับชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 จะยกเอาเหตุดังกล่าวมาเป็นข้อยกเว้นความรับผิดหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ว่าข้อกำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในการชดใช้ค่าเสียหายสำหรับพัสดุไปรษณีย์ที่สูญหายตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวกไปรษณีย์นิเทศนั้น หามีผลยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 1 ไม่นั้นเห็นว่าการขนไปรษณียภัณฑ์ ในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ จะนำบทบัญญัติเรื่องรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 4 หมวด 1 มาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1ไม่ได้ ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างถึง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้นชอบด้วยรูปคดีแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share