คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5926/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้เป็นคดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่า สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ส.ตามคำร้องหรือไม่เท่านั้น แม้ผู้คัดค้านทั้งสองคัดค้านว่าที่ดิน 2 แปลง ดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้าน แต่เมื่อปรากฏในเบื้องต้นว่าที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)มีชื่อ ส. เป็นผู้แจ้งการครอบครอง และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) มีชื่อ ส.เป็นผู้ทำประโยชน์ผู้คัดค้านเคยไปขอเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินแล้ว แต่มี ว.ไปคัดค้าน เจ้าหน้าที่ที่ดินจึงระงับการออกโฉนดไว้กรณีพอถือได้ว่าการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 เมื่อผู้ร้องเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของ ส. ทั้งผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1718 ก็มีเหตุสมควรที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ 148 หมู่ที่ 17ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสี ลิสอน ผู้ตาย ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 18กุมภาพันธ์ 2519 มีทรัพย์มรดก คือ ที่ดินตามหนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) รวม 2 แปลง อยู่ที่ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสนจังหวัดนครปฐม โดยผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้การจัดการมรดกมีเหตุขัดข้อง ผู้ร้องมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามกฎหมายในการเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรของนายสี ลิสอน ผู้ตายและเป็นภริยาของผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อประมาณปี 2503 ขณะผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ มีบุตร 4 คน ได้จัดแบ่งที่ดินซึ่งซื้อใหม่และมีอยู่แล้วให้แก่บุตรทุกคน โดยผู้ร้องได้รบที่ดินเนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ ที่ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม สำหรับผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายในวัยชรานั้นได้รับที่ดินเป็นที่นา 15 ไร่ กับที่ดินรกร้างตามหนังสือแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เนื้อที่แปลงละ 5 ไร่เศษ ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายตามคำร้องโดยที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้ เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองได้รับการยกให้ก็ได้ช่วยกันถากถางครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องเพื่อขอจัดการทรัพย์มรดกที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบคดีของผู้ร้องขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายโพธิ์ ลิสอน ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ของนายสี ลิสอน ผู้ตาย โดยให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทุกประการ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นมรดกของนายสีนั้น นายสีได้ยกให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองแล้วและผู้คัดค้านทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา นายสีจึงไม่มีมรดกไม่มีเหตุที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายสีนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่า สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายสีตามคำร้องหรือไม่เท่านั้น แม้ผู้คัดค้านทั้งสองคัดค้านว่าที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้าน แต่เมื่อปรากฏในเบื้องต้นว่าที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1)มีชื่อนายสีเป็นผู้แจ้งการครอบครอง และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) มีชื่อนายสีเป็นผู้ทำประโยชน์ ผู้คัดค้านเคยไปขอเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินแล้วแต่มีนายวิวัฒน์ ลิสอน ไปคัดค้านเจ้าหน้าที่ที่ดินจึงระงับการออกโฉนดไว้ กรณีพอถือได้ว่าการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713เมื่อผู้ร้องเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของนายสีและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718ก็มีเหตุสมควรที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้
พิพากษายืน

Share