คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5925/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่จะได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนม์พรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 มาตรา 4 คือ ผู้ได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ แต่จำเลยยังไม่พ้นโทษในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงไม่ได้รับผลจากพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยพ้นโทษฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองมายังไม่เกินห้าปี กลับมากระทำผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีนอีกจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522มาตรา 97 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมิได้ฟ้องว่าจำเลยจำหน่ายเฮโรอีน เงินสดของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีนี้ จึงมิใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดในคดีนี้ ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งริบเงินสดของกลางที่ศาลล่างทั้งสองสั่งริบเงินสดของกลางด้วยจึงไม่ชอบ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาปัญหานี้แต่เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีเฮโรอีนหนัก 87.932 กรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเฮโรอีนที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่าย พร้อมด้วยโทรศัพท์มือถือ1 เครื่อง โทรศัพท์ติดตามตัว 1 เครื่อง รถยนต์ 1 คัน และเงินสด38,580 บาท ก่อนคดีนี้จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 1 ปี ฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองตามคดีหมายเลขแดงที่ 3030/2530 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่24 สิงหาคม 2530 และจำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 1 ปี ฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครอง ตามคดีหมายเลขแดงที่ 4431/2530 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม2530 จำเลยทั้งสองพ้นโทษในคดีดังกล่าวมาแล้ว กลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66,97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ขอให้ริบเฮโรอีนรวมทั้งของกลางทั้งหมดและเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองด้วย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธแต่จำเลยทั้งสองรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษแล้วจริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสองมาตรา 66 วรรคแรก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 40 ปี เพิ่มโทษคนละกึ่งหนึ่งตามมาตรา 97 รวมจำคุกคนละ 60 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 30 ปี จำเลยที่ 2ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 40 ปีริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 1เคยต้องคำพิพากษาถึงทีสุดให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครอง ตามคดีหมายเลขแดงที่ 3030/2530 ของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2530 ส่วนจำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองตามคดีหมายเลขแดงที่ 4431/2530 ของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม2530 และพ้นโทษมายังไม่เกินห้าปี ก็ไม่สามารถเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองได้ เพราะมีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนม์พรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530ให้ล้างมลทินถือว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยถูกลงโทษจะเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองอีกคนละกึ่งหนึ่งไม่ได้ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองเพิ่มยกขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรวินิจฉัยให้ พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชทรงมีพระชนม์พรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 มาตรา 4 บัญญัติว่า”ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 และได้พ้นโทษไปแล้วหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2530 โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับผลตามพระราชบัญญัติดังกล่าว คือผู้ได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ แต่จำเลยทั้งสองยังไม่พ้นโทษในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้รับผลจากพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยทั้งสองพ้นโทษมายังไม่เกินห้าปีกลับมากระทำผิดอีกจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97
อนึ่ง สำหรับเงินสดของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดจากจำเลยทั้งสองรวมเป็นเงินจำนวน 38,580 บาท นั้น ได้ความจากพยานโจทก์เพียงว่า จำเลยทั้งสองบอกว่าได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมิได้ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองจำหน่ายเฮโรอีน เงินสดของกลางไม่ใช่ทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีนี้ จึงมิใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดในคดีนี้ ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งริบเงินสดของกลางที่ศาลล่างทั้งสองสั่งริบเงินสดของกลางด้วยจึงไม่ชอบ แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ฎีกาปัญหานี้ แต่เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอริบเงินสดของกลาง ให้คืนเงินสดของกลางแก่จำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share