คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 592/2482

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การจำนองที่ทำขึ้นก่อนใช้ประมวลแพ่งฯ ต้องนำประกาศเรื่องจำนำและขายฝากที่ดิน ร.ศ.118 มาใช้บังคับ กรณีเช่นนี้ ผู้รับจำนองหาจำต้องมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองตาม ม.728 แห่งประมวลแพ่ง ฯไม่
การที่ผู้รับจำนองฟ้องเรียกหนี้รายจำนองพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เรียกได้ว่าเป็นการฟ้องบังคับจำนอง อ้างฎีกาที่ 201/2479, 1282/2462
ตามประกาศปี ร.ศ.118 แม้ถึงว่าผู้จำนองจะขาดส่งดอกเบี้ยเกิน 3 ปีแล้วก็ตามผู้รับจำนองจะฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยโดยไม่ฟ้องขอให้ที่ดินหลุดเป็นสิทธิก็ได้ และการฟ้องเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็นการฟ้องบังคับจำนองคดีไม่มีอายุความ อ้างฎีกาที่ 753/2457
จำนองที่ดินกันก่อนใช้ประมวลแพ่งฯ และค้างดอกเบี้ยคาบเกี่ยวระหว่างกฎหมายเก่าและใหม่ อายุความเรียกดอกเบี้ยในระหว่างกฎหมายเก่าก็ต้องใช้กฎหมายเก่าบังคับ คือเรียกดอกเบี้ยได้ถึงต้นชนดอก ส่วนแต่วันใช้กฎหมายแพ่งฯ ก็ต้องใช้ประมวลแพ่งฯ บังคับแต่เมื่อรวมดอกเบี้ยเข้าด้วยกันแล้วต้องไม่เกินต้นชนดอก อ้างฎีกาที่ 948/2474
ลูกหนี้จำนองขาดส่งดอกเบี้ยมากกว่า 10 ปีแล้ว ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับเอาดอกเบี้ยตอนใช้ประมวลแพ่งฯ แล้วเพียง 5 ปี ไม่มีสิทธิจะได้ดอกเบี้ยจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จด้วย เมื่อหนี้ขาดอายุความแล้วเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ ถ้าหากลูกหนี้ได้รับสภาพความรับผิดโดดยสัญญาหรือให้ประกันแก่หนี้นั้น ตามประมวลแพ่งฯ ม.188
ม.172 แห่งประมวลแพ่งฯ เป็นเรื่องหนี้ยังไม่ขาดอายุความ ส่วน ม.188 เป็นเรื่องขาดอายุความแล้ว
ประมวลวิธีพิจารณาแพ่ง ม.86,93(3),100,122,142,183,185 พะยานเอกสารที่นำยื่นต่อศาล เมื่ออีกฝ่าย 1 ปฏิเสธ หากไม่มีพะยานบุคคลสืบประกอบศาลไม่รับฟัง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปกว่า 10 ปีแล้ว แต่จำเลยทำเอกสารรับสารภาพหนี้ให้ไว้รวม 3 ฉะบับ ซึ่งจำเลยปฏิเสธ ไม่รับรองเอกสาร 3 ฉะบับ นั้น ประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยก็แต่ฉะเพาะเอกสาร 3 ฉะบับนี้เท่านั้นโจทก์จะนำหลักฐานการรับสภาพหนี้อย่างอื่นมาพิสูจน์ต่อศาลในภายหลังมิได้เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น ศาลไม่รับฟัง, ค่าธรรมเนียม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลย ๒ สำนวน สำนวนหนึ่งฟ้องขอบังคับหนี้ตามสัญญาจำนองที่ดิน ๓ แปลง ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๑ เงินต้น ๒๗,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยค้างมาจนถึงวันฟ้องรวมต้นเงินและดอกเบี้ย ๔๓,๑๓๑ บาท ๒๕ สตางค์ และดอกเบี้ยในต้นเงิน ๒๗,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ สำนวนที่ ๒ ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้หนี้เงินกู้ ๒ ราย รายที่ ๑ จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท กู้ไปเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๗๕ รายที่ ๒ อีก ๒๐,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๔๕๗ รวมทั้งดอกเบี้ยด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าในสำนวนที่ ๑ นั้นให้จำเลยนำต้นเงิน ๒๗,๐๐๐ บาทกับดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องถอยหลังขึ้นไป ๕ ปี กับดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องมาไถ่ถอนการจำนองที่ดิน ๓ แปลงนั้น ถ้าไม่สามารถจะไถ่ได้ก็ให้ขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ ส่วนสำนวนที่ ๒ เรื่องเรียกหนี้สินนั้นให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในสำนวนที่ ๑ สำหรับสำนวนที่ ๒ แก้ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ต้นเงินกู้ ๒ ราย ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาตัดสินว่าสำหรับสำนวนที่ ๑ การจำนองรายนี้ทำกันก่อนใช้ประมวลแพ่ง ฯ จึงต้องนำประกาศเรื่องจำนำและขายฝากที่ดิน ร.ศ.๑๑๘ มาใช้บังคับ และเห็นว่าผู้รับจำนองก่อนวันใช้ประมวลแพ่งฯ หาจำต้องมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองตามความใน ม.๗๒๘ นั้นไม่ ที่จำเลยค้านว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องหนี้สินธรรมดา โจทก์ไม่ได้ฟ้องบังคับจำนอง ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่าตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๑/๒๔๗๙ และที่ ๑๒๘๒/๒๔๖๒ ได้วินิจฉัยว่าเพียงแต่ฟ้องขอให้ใช้หนี้รายจำนองที่ขาดส่งดอกเบี้ยพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็เรียกได้ว่าเป็นการฟ้องบังคับจำนองแล้ว ที่จำเลยค้านว่าตามประกาศ ฯลฯ ร.ศ.๑๑๘ ข้อ ๔ บัญญัติให้อำนาจผู้รับจำนองฉะเพาะแต่ฟ้องเรียกที่ดินหลุดเป็นสิทธิ ถ้าผู้จำนองไม่ไถ่ถอน เห็นว่าประกาศปี ร.ศ.๑๑๘ เมื่ออ่านรวมกันแล้วคงได้ความว่าหนี้สินจำนองถ้าขาดส่งดอกเบี้ยไม่ถึง ๓ ปีก็มีอำนาจเพียงฟ้องเรียกต้นเงินกับดอกเบี้ยและค่าเสียหาย ถ้าพ้น ๓ ปีไปแล้วอาจบังคับขอให้ที่ดินหลุดเป็นสิทธิได้ คือว่าเมื่อขาดส่งดอกเบี้ยเกินกว่า ๓ ปีไปแล้วก็ย่อมจะฟ้องขอให้ที่ดินหลุดเป็นสิทธิได้ หรือจะฟ้องเพียงเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยเช่นคดีนี้ได้ ลูกหนี้ไม่เสียเปรียบอย่างใด และการที่ฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยนั้นถ้าโจทก์ชนะคดีแล้วจะยึดทรัพย์อื่นของจำเลยไม่ได้ตามข้อ ๒ ของประกาศนั้น ก็เมื่อฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องเอากับทรัพย์สินจำนอง คือบังคับจำนองแล้วคดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ ตามนัยฎีกาที่ ๗๕๓/๒๔๕๗ ซึ่งวินิจฉัยว่าคดีพิพาทเข้าลักษณจำนองที่ดินมิได้มีอายุความเหมือนกู้หนี้ธรรมดา ส่วนเมื่อใช้ประมวลแพ่งฯ แล้วก็มี ม.๑๘๙,๗๔๕ บัญญัติไว้ จำเลยค้านอีกว่าแม้โจทก์จะชนะคดีก็ควรได้ดอกเบี้ย ๕ ปีเท่านั้น จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยแต่วันฟ้องต่อไปไม่ได้ เพราะฝ่าฝืน ม.๑๘๙,๗๔๕ ตามกฎหมาย ๒ มาตรานี้ให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหนี้ที่จะฟ้องบังคับเอากับทรัพย์สินจำนอง แต่ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินกว่า ๕ ปี ฉะนั้นโจทก์จะอาศัยกฎหมายอื่นใดเรียกเอาดอกเบี้ยเกิน ๕ ปีได้ เมื่อกรณีจำนองรายนี้แม้จะเกิดขึ้นก่อนใช้ประมวลแพ่งฯ ก็ขาดส่งดอกเบี้ยคาบเกี่ยวในระหว่างกฎหมายเก่ากันใหม่ อายุความเรียกดอกเบี้ยในตอนแรกจึงต้องใช้กฎหมายเก่าบังคับ คือแต่วันขาดส่งดอกเบี้ยไป-ถึงวันประกาศใช้ประมวลแพ่งฯ ใช้กฎหมายเก่าให้ดอกเบี้ยถึงต้นชนดอก ส่วนนับแต่วันใช้ประมวลแพ่งฯ ต่อมาใช้ประมวลแพ่งฯ บังคับคดีแต่รวมกันต้องไม่เกินต้นชนดอก ตามนัยฎีกาที่ ๙๔๘/๒๔๗๔ ฉะนั้นที่ศาลล่างให้ดอกเบี้ย ๕ ปีแก่โจทก์จึงชอบด้วย ม.๗๔๕ แล้ว แต่ดอกเบี้ยแต่วันฟ้องถึงวันชำระเสร็จไม่มีกฎหมายใดเป็นพิเศษให้โจทก์ได้รับสิทธิเช่นนั้น มี ม.๒๒๔ ที่อนุญาตให้พิสูจน์ค่าเสียหายนอกจากดอกเบี้ยได้ แต่โจทก์ก็อาศัยกฎหมายบทนี้ไม่ได้ เพราะไม่ได้ฟ้องร้องตั้งประเด็นขอค่าเสียหายเช่นนั้นมาและทั้งมิได้มีการพิสูจน์ค่าเสียหายตามมาตรานั้นเลย อนึ่งตามประกาศปี ร.ศ.๑๑๘ บัญญัติให้เจ้าหนี้เรียกค่าเสียหายได้ต่างหากจากต้นเงินและดอกเบี้ย แต่เมื่อโจทก์มิได้ร้องขอค่าเสียหายอย่างไรและมิได้นำสืบให้ประจักษ์จึงไม่มีประเด็นดังนั้น ข้อค้านอื่น ๆ ในเรื่องจำนองไม่ต้องวินิจฉัยต่อไป เพราะได้วินิจฉัยมาแล้วว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องบังคับจำนองไม่ขาดอายุความและหาจำต้องบอกกล่าวตามประมวลแพ่งฯ ไม่ ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระก่อนประมวลแพ่งฯ เล่า ในชั้นฎีกามิได้มีประเด็นขึ้นมาจึงไม่ต้องวินิจฉัย
ในสำนวนที่ ๒ เรื่องกู้ยืมเงิน ๒ รายนั้นโจทก์ฟ้องว่าค้างส่งดอกเบี้ยมาแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๖๘ และจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ๓ ฉะบับ เมื่อจำเลยให้การปฎิเสธไม่รับรองเอกสารทั้ง ๓ ฉะบับนี้แล้ว โจทก์ก็มีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยทำหนังสือเช่นนั้นจริง โจทก์ได้ขอหมายเรียกต้นฉะบับเอกสารนั้นมาประกอบคดี แต่ถึงคราวพิจารณาโจทก์หาได้นำพะยานบุคคลมาสืบประกอบเอกสารนั้นไม่และเมื่อจำเลยเข้าเบิกความ โจทก์ก็หาได้ซักถามให้จำเลยรับรองข้อความในเอกสารนั้นไม่ ฉะนั้นเมื่อโจทก์ไม่จัดการกับเอกสารให้ถูกต้องกับวิธีพิจารณาความแล้ว ศาลก็รับฟังเอกสารนี้เป็นพะยานหลักฐานมิได้ โจทก์อ้างเอกสารอีก ๒ ฉะบับว่าจำเลยได้ทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ แต่เอกสารนี้ได้ทำขึ้นกว่า ๑๐ ปี จากวันที่จำเลยขาดส่งดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์จักต้องอาศัย ม.๑๘๘ เพราะเป็นเวลาที่พ้นกำหนดอายุความแล้วจะอาศัย ม.๑๗๒ ไม่ได้ เพราะมาตรานี้ต้องทำในระหว่างอายุความยังเดินอยู่ เอกสารทั้ง ๒ ฉะบับนี้หาเข้าลักษณะหนึ่งลัษณะใดตาม ม.๑๘๘ ไม่ เมื่อข้อความในหนึงสือนั้นปรากฎว่าไม่เป็นการรับสภาพความรับผิดตาม ม.๑๘๘ แล้ว ก็ไม่ต้องวินิจฉัยว่าจะรับฟังเป็นพะยานหลักฐานได้หรือไม่ต่อไป คดีนี้เป็นหนี้สินเกินกำหนดอายุความแต่โจทก์อ้างว่าจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ๓ ฉะบับ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยคือหนังสือ ๓ ฉะบับ ที่ยื่นต่อศาลเท่านั้น โจทก์จะอาศัยบัญชีรายละเอียดการรับดอกเบี้ยที่ยื่นในภายหลังมาเป็นหลักฐานมิได้เป็นเรื่องนอกฟ้องและคำให้การ ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.๑๔๒,๑๘๕,๘๖ และ ๑๘๓ จึงพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องสำนวนที่ ๒ เรื่องกู้เงินให้โจทก์ชนะคดีเฉพาะสำนวนที่ ๑ แต่ข้อที่ให้ดอกเบี้ยการจำนองแต่วันฟ้องให้งดเสีย ค่าธรรมเนียมให้โจทก์ออก ๒ ใน ๓ จำเลยออก ๑ ใน ๓ เพราะจำเลยชนะในสำนวนทุนทรัพย์มาก ถ้าเอาที่ดินขายทอดตลาดได้เงินเท่าใดใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์แล้วเหลือเท่าใดคืนจำเลย ถ้าไม่พอเป็นพับ.

Share