แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยนำข้าวสารและข้าวเปลือกที่จำเลยจำนำแก่โจทก์ไปจำหน่าย ซึ่งตามทางปฎิบัติ ข้าวสารและข้าวเปลือกที่ลูกค้าจำนำแก่โจทก์จะอยู่ในความดูแลของลูกค้า ลูกค้าสามารถนำออกไปจำหน่ายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตโจทก์แต่ต้องนำข้าวสารและข้าวเปลือกจำนวนใหม่เข้าไปไว้แทน แสดงว่าโจทก์ยอมให้ข้าวสารและข้าวเปลือกอยู่ในความครอบครองของจำเลย ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยมอบข้าวสารและข้าวเปลือกไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจำนำ เมื่อไม่มีการจำนำจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ทวงถามและจำเลยรู้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยขนย้ายทรัพย์ไปเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือไม่ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองประกอบธุรกิจโรงสีข้าวชื่อโรงสีไฟอุดมดี จำเลยทั้งสองร่วมกันเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ และขอกู้เบิกเงินเกินบัญชี โดยจำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการโรงสีไฟอุดมดียังนำเครื่องจักรของโรงสีไฟอุดมดี มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยทั้งสองที่มีต่อโจทก์เป็นการเพิ่มเติมด้วยต่อมาจำเลยทั้งสองยังขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นการชั่วคราวจากโจทก์อีก เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรับซื้อข้าวเปลือก โดยจำเลยที่ 1 ตกลงนำข้าวเปลือกที่รับซื้อไว้ทั้งหมดมาจำนำไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ที่จำเลยทั้งสองมีต่อโจทก์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2527จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์จำนวน 7,514,981.66 บาท ต่อมาประมาณกลางปี 2529 ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2529 จำเลยทั้งสองขนย้ายข้าวเปลือกและข้าวสารที่จำเลยที่ 1 จำนำไว้แก่โจทก์หลบหนี นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังรื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักรที่จดทะเบียนจำนองไว้หลบหนีไปทั้งหมด เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 349, 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83 และจำเลยที่ 1ประกอบด้วย มาตรา 349 ด้วย แต่ลงโทษตามมาตรา 350 เพียงมาตราเดียว จำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และประกอบกิจการโรงสีข้าวชื่อว่าโรงสีไฟอุดมดี จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์จำนวน 2,500,000 บาท ต่อมาเพิ่มวงเงินอีก 500,000 บาทและทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกจำนวน 1,000,000 บาททั้งนี้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันวงเงิน 1,700,000 บาท ต่อมาจดทะเบียนเพิ่มวงเงินจำนอง 2 ครั้ง รวมเป็นวงเงินจำนองทั้งสิ้น 4,200,000 บาทนอกจากนี้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองเครื่องจักรโรงสีไฟอุดมดี และทำสัญญาจำนำพืชไร่และพืชผลเกษตรคือข้าวเปลือกและข้าวสารซึ่งเก็บไว้ในโรงเก็บสินค้าที่โจทก์เช่าจากจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์จำนวน 9,243,687.23 บาทปัญหาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 349 หรือไม่ ได้ความว่าจำเลยที่ 1 นำข้าวสารและข้าวเปลือกที่จำนำแก่โจทก์ไปจำหน่าย แต่ตามทางปฎิบัติข้าวสารและข้าวเปลือกดังกล่าวจะอยู่ในความดูแลของลูกค้าลูกค้าสามารถนำออกไปจำหน่ายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตโจทก์แต่ต้องนำข้าวสารและข้าวเปลือกจำนวนใหม่เข้าไปไว้แทนพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ยอมให้ข้าวสารและข้าวเปลือกอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ย่อมถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 มอบข้าวสารและข้าวเปลือกไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะจำนำ เมื่อไม่มีการจำนำจึงขาดองค์ประกอบที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานนี้
ปัญหาต่อไปที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ทวงถามและจำเลยทั้งสองรู้ว่าโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์ไปเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
พิพากษายืน