แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น ในกรณีเจ้าของขายรถยนต์แล้วกรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนเป็นของผู้ซื้อทันที แม้ไม่จดทะเบียนโอนก็ใช้ได้ แต่เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสองบัญญัติถึงตัวทรัพย์สินว่าจะจำหน่ายได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคนการมีชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ย่อมเป็นการคุ้มครองประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์คันที่มีเจ้าของรวมให้ทราบว่าการซื้อรถยนต์คันดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมของเจ้าขอรวมทุกคนก่อน เป็นการตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่รถยนต์เป็นทรัพย์ของบุคคลหลายคน แต่มีชื่อเจ้าของรวมเพียงคนเดียวในใบคู่มือจดทะเบียน และผู้ซื้อซื้อไปโดยไม่ทราบว่ามีเจ้าของรวมที่ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขาย ทำให้เจ้าของรวมที่ไม่ยินยอมและผู้ซื้อได้รับความเสียหายจากการที่ต้องฟ้องและถูกฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขาย นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ฯก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ดังนั้น การลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ นอกจากจะไม่ขัดต่อบทกฎหมายแล้วยังมีประโยชน์มากกว่าการไม่ลงชื่อไว้ในใบคู่มือ จดทะเบียนรถยนต์อีกด้วย ดังนั้นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในรถยนต์คันพิพาทขอให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์นั้น จึงมีเหตุสมควรอนุญาตตามที่ขอได้
เดิมสังหาริมทรัพย์อันเป็นกรรมสิทธิ์รวมอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1โดยอาศัยสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของรวมเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิการเป็นเจ้าของรวมประกอบกับไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้เจ้าของรวมจำต้องครอบครองทรัพย์สินที่ตนมีกรรมสิทธิ์รวม โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยส่งมอบการครอบครองสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภรรยากันมาตั้งแต่ปี 2523 ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม2533 และได้จดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 แต่ยังคงอยู่กินด้วยกันตลอดมา ระหว่างอยู่กินด้วยกันมีทรัพย์สินรวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 8,317,000 บาทโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงให้จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และครอบครองแต่โดยพฤตินัยแล้วจำเลยที่ 1 รับรู้และยอมรับว่าทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้สมคบกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 106165 และบ้านเลขที่ 111/286 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาลวง โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้สมรู้กัน นิติกรรมการซื้อขายบ้านและที่ดินดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายบ้านและที่ดินโฉนดเลขที่ 106165 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ผู้มีกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินเลขที่106163 ถึง 106165 และโฉนดที่ดินเลขที่ 19788 ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์รวมในทะเบียนรถยนต์เรโนลต์ อาร์ 19 รถยนต์เบนซ์ 250 และรถยนต์บีเอ็มดับบลิว 520 และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์สินท้ายฟ้องให้กับโจทก์ร่วมครอบครองในฐานะผู้มีกรรมสิทธิ์รวม
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์มิได้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น และจำเลยที่ 1 มีอำนาจที่จะจดทะเบียนทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 106165 พร้อมบ้านที่อยู่ในที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดไม่ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่106165 พร้อมบ้านเลขที่ 111/286 นั้น จำเลยทั้งสามมิได้สมรู้กันและกระทำลงไปโดยมิใช่เป็นการแสดงเจตนาลวงแต่อย่างใด แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ซื้อที่ดินและบ้านของจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 10613 ตำบลสีกัน อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานครให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมในทะเบียนรถยนต์บีเอ็มดับบลิว520 ตามฟ้อง และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องในลำดับที่ 1 ถึง 13, 15 ถึง 23, 26 และ 27 ให้แก่โจทก์ร่วมครอบครองในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินเลขที่ 106164 และ 106165 ตำบลสีกัน อำเภอบางเขน(ตลาดขวัญ) จังหวัดกรุงเทพมหานคร ด้วย ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์รวมในทะเบียนรถยนต์บีเอ็มดับบลิว 520และที่ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องในลำดับที่ 1 ถึง 13 ลำดับที่ 15 ถึง 23 ลำดับที่ 26 และ 27 ให้แก่โจทก์ร่วมครอบครองในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยามาตั้งแต่ปี 2524 ต่อมาจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม2533 ตามสำเนาทะเบียนสมรสเอกสารหมาย จ.2 และจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 31พฤษภาคม 2534 ตามสำเนาทะเบียนหย่าเอกสารหมาย จ.7 แต่ยังคงอยู่ร่วมกันเช่นเดิมหลังจากนั้นได้แยกกันอยู่เมื่อเดือนกันยายน 2536 โจทก์และจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ระหว่างที่อยู่ร่วมกันคืออสังหาริมทรัพย์ตามเอกสารหมาย จ.9 ลำดับ 1 ถึง 3และสังหาริมทรัพย์ตามเอกสารหมาย จ.10 ลำดับ 1 ถึง 13, 15 ถึง 23, 26 และ 27
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ยกเอาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์จำเลยที่ 1 มิได้หย่าขาดจากกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยขึ้นวินิจฉัยได้แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมสิ้นสุดลง ขาดจากการเป็นสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 โดยมีผลสมบูรณ์เมื่อจดทะเบียนหย่าแล้ว ตามมาตรา 1515 และประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้มีเฉพาะที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น โดยประเด็นข้อแรกมีว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งในทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหรือไม่ และประเด็นข้อสองว่า การโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่106165 พร้อมบ้านเลขที่ 111/286 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาลวงหรือไม่ ไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง รวมทั้งการแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 การที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเป็นการยกขึ้นโดยไม่ชอบ ทั้งฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกับพยานเอกสารทำให้วินิจฉัยข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน ซึ่งที่ถูกเมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ขาดจากการเป็นสามีภริยากันแล้วทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ระหว่างอยู่ร่วมกันและยังมิได้แบ่งปันก็ต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยกรรมสิทธิ์ ซึ่งถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวม และสันนิษฐานว่ามีส่วนเท่ากันตามมาตรา 1357 ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์บีเอ็มดับบลิว 520 และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองสังหาริมทรัพย์ตามเอกสารหมาย จ.10 ลำดับ 1 ถึง 13, และ 15 ถึง23, 26 และ 27 แก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องหรือไม่ เห็นว่า สำหรับกรณีโจทก์ขอใส่ชื่อโจทก์ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์นั้น ใบคู่มือดังกล่าวมิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้นซึ่งในกรณีที่เจ้าของขายรถยนต์แล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนเป็นของผู้ซื้อทันที แม้ไม่จดทะเบียนโอนก็ใช้ได้ แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรคสองบัญญัติว่า แต่ตัวทรัพย์สินนั้นจะจำหน่ายได้ก็แต่ด้วยความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคนการมีชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ย่อมเป็นการคุ้มครองประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการซื้อรถยนต์คันที่มีเจ้าของรวมให้ทราบว่าการซื้อรถยนต์คันดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมของเจ้าของรวมทุกคนก่อนเป็นการตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่รถยนต์เป็นทรัพย์ของบุคคลหลายคน แต่มีชื่อเจ้าของรวมเพียงคนเดียวในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ และผู้ซื้อซื้อไปโดยไม่ทราบว่ามีเจ้าของรวมที่ไม่ได้ให้ความยินยอมในการขายทำให้เจ้าของรวมที่ไม่ยินยอมและผู้ซื้อได้รับความเสียหายจากการที่ต้องฟ้องและถูกฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขาย นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ดังนั้น การลงชื่อเจ้าของรวมไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์นอกจากไม่ขัดต่อบทกฎหมายแล้ว ยังมีประโยชน์มากกว่าการไม่ลงชื่อไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์จึงเห็นสมควรให้โจทก์ลงชื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในรถยนต์บีเอ็มดับบลิวคันพิพาทไว้ในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวได้ตามขอที่ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่อนุญาตตามคำขอดังกล่าวของโจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนการที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองสังหาริมทรัพย์ตามเอกสารหมาย จ.10 ลำดับที่ 1 ถึงที่ 13, 15 ถึง 23, 26 และ 27แก่โจทก์นั้น เห็นว่า แต่เดิมสังหาริมทรัพย์อันเป็นกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 โดยอาศัยสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของรวมและตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิการเป็นเจ้าของรวม ประกอบกับไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้เจ้าของรวมจำต้องครอบครองทรัพย์สินที่ตนมีกรรมสิทธิ์รวม โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยส่งมอบการครอบครองสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องลำดับที่ 1 ถึง 13, ลำดับ 15 ถึง 23 ลำดับ 26 และ 27แก่โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์บีเอ็มดับบลิว 520 ตามฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์