แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นรายสำนวนในความผิดปลอมเอกสารสิทธิใช้เอกสารสิทธิปลอม และยักยอกรวม 34 คดี โดยลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งโจทก์อาจยื่นฟ้องจำเลยทุกกระทงความผิดเป็นสำนวนเดียวกันได้ คดีดังกล่าวจึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (2)
การที่จำเลยร้องขอให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 สั่งให้ศาลชั้นต้นแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่ ไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เป็นการบังคับคดีที่ศาลต้องออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 264, 265, 268, 352 ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4186/2546 ถึง 4207/2546, 52/2547 ถึง 54/2547 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 121/2547 ถึง 127/2547, 155/2547, 156/2547 และ 158/2547 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 10,540 บาท แก่ผู้เสียหาย และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก, 265, 268 วรรคแรก, ประกอบมาตรา 265 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานยักยอก จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 9 กระทง เป็นจำคุก 9 เดือน ฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิที่จำเลยปลอมนั้นเอง ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 9 กระทง เป็นจำคุก 54 เดือน รวมจำคุก 63 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 31 เดือน 15 วัน นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 156/2547 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 113/2547 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 10,540 บาท แก่ผู้เสียหาย และริบของกลาง ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 155/2547 และ 158/2547 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่าศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ และที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่นๆ อีก ปรากฏว่าคดีดังกล่าว ศาลมีคำพิพากษาให้นับโทษต่อแล้ว จึงให้ยกคำขอ
จำเลยยื่นคำร้องว่า ก่อนคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว 34 คดี รวมจำคุก 10 ปี 295 เดือน โดยนับโทษต่อกันทุกคดีรวมคดีนี้เป็น จำคุก 10 ปี 326 เดือน 15 วัน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5186/2546 ถึง 4207/2546, 52/2547 ถึง 54/2547 และ 105/2547 ถึง 113/2547 คดีนี้กับคดีอาญา 34 คดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีลักษณะแห่งคดีและความผิดอย่างเดียวกัน แต่โจทก์แยกฟ้องเป็นรายนำนวนและศาลชั้นต้นมิได้สั่งรวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกในคดีก่อนที่ศาลนับโทษต่อกันครบ 20 ปีแล้ว จึงไม่อาจนับโทษคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 113/2547 ของศาลชั้นต้นอีกขอให้ออกหมายจำคุกจำเลยเมื่อคดีถึงที่สุดคดีนี้ใหม่โดยนับโทษคดีนี้นับแต่วันมีคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกจำเลยเมื่อคดีถึงที่สุดเสียใหม่ โดยไม่นับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 113/ 2547 ของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 113/2547 ของศาลชั้นต้นได้นั้นในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า คดีนี้กับคดีอาญา 34 คดีดังกล่าวซึ่งรวมถึงคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 113/2547 ของศาลชั้นต้น จำเลยกระทำความผิดในขณะเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านบางไทรรับมอบเงินจากชาวบ้านที่ชำระกู้ยืมคืนกองทุนหมู่บ้านบางไทรแล้วจำเลยยักยอกเงินดังกล่าวไป โดยปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมเป็นหลักฐานการชำระเงินกู้ยืมคืน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญา 34 คดีดังกล่าว โดยนับโทษต่อกันครบ 20 ปีแล้ว เห็นว่า ขณะที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้และคดีอาญา 34 คดีดังกล่าวจำเลยเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านบางไทรซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยด้วยในทุกคดี โดยจำเลยถือโอกาสที่เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านบางไทรกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์และเอกสารโดยมีเจตนาเพื่อเบียดบังเอาเงินของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านบางไทรที่มอบหมายให้จำเลยนำไปชำระหนี้กองทุนหมู่บ้างบางไทรเป็นประโยชน์ส่วนตัว ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งโจทก์อาจยื่นฟ้องจำเลยทุกกระทงความผิดเป็นสำนวนเดียวกันได้ คดีนี้และคดีอาญา 34 คดีดังกล่าวจึงมีความเกี่ยวพันกันอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) กล่าวคือ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วจะเกินกว่า 20 ปี ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นพิพากษาและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยขอให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดโดยไม่ให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 113/2547 ของศาลชั้นต้นเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดโดยให้นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 113/2547 ของศาลชั้นต้น รวมแล้วเกิน 20 ปี จนคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม หากปรากฏว่าการนับโทษต่อดังกล่าวขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีคำสั่งแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่ เป็นไม่นับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 113/2547 ของศาลชั้นต้นได้ ไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องการบังคับคดีที่ศาลจะต้องออกหมายบังคับคดีถึงที่สุดให้ถูกต้องกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่โดยไม่นับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 113/2547 ของศาสชั้นต้นนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน