คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5914/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งทางพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) ที่ทางราชการออกให้แก่โจทก์ จึงเป็นที่ดินของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ซึ่งแม้จำเลยจะมีสิทธิครอบครองแต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งกำหนดให้รัฐจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นมาเพื่อให้ราษฎรมีที่ดินทำการเกษตรและตั้งเคหสถานบ้านเรือน โดยรัฐจะเข้าไปจัดแบ่งที่ดินเป็นแปลง ๆ และช่วยเหลือส่งเสริมให้ทำการเกษตรในแปลงที่ดินที่จัดให้มีประสิทธิภาพ การที่จำเลยซึ่งครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินส่วนที่เป็นที่ตั้งทางพิพาทไม่ยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อไปทำการเกษตรในที่ดินที่ทางราชการจัดให้แก่โจทก์ เป็นการกระทำที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง และการจัดแปลงที่ดินในเขตนิคมที่ประสงค์จะให้สมาชิกของนิคมได้ใช้ประโยชน์ในแปลงที่ดินที่ทางนิคมจัดให้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางกับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเปิดทางพิพาทกว้าง 6 เมตร ยาว 100 เมตร ให้จำเลยรื้อรั้ว ประตู และสิ่งปลูกสร้างบริเวณที่ปิดกั้นทางพิพาทด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย หากจำเลยไม่ดำเนินการให้โจทก์ดำเนินการแทนโดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย ห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 194,309 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 192,725 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเปิดทางพิพาทให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้ง หากศาลพิพากษาให้เปิดทางก็ขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาท แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง และยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ที่ดินแปลงที่ 19 ระวางที่ 2 ตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) เลขที่ 13352 เล่มที่ 268 เป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน โดยโจทก์มีชื่อเป็นผู้ที่มีสิทธิครอบครอง และเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ ที่ดินแปลงดังกล่าวมีถนนสาธารณประโยชน์ตัดผ่าน ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ทางทิศตะวันออกซึ่งติดกับถนนสาธารณประโยชน์ เนื้อที่ 1 ไร่ ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 586/2557 ของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จำเลยสร้างโรงเรือนและรั้วเหล็กปิดกั้นทางพิพาทที่โจทก์ใช้เข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออก
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางพิพาทเพื่อให้โจทก์ใช้เข้าออกที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) เลขที่ 13352 เล่มที่ 268 ส่วนที่โจทก์มีสิทธิหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งทางพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงที่ 19 ระวางที่ 2 ตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) เลขที่ 13352 เล่มที่ 268 ที่ทางราชการออกให้แก่โจทก์ ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งทางพิพาทจึงเป็นที่ดินของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน ดังนั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยฟังว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งทางพิพาทก็ตาม แต่เมื่อเป็นที่ดินของนิคมสร้างตนเองก็ย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งตามมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจอนุญาตให้สมาชิกนิคมเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคม ส่วนมาตรา 9 กำหนดให้สมาชิกนิคมต้องใช้ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ตามมาตรา 8 เฉพาะเพื่อทำการเกษตรตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ถ้าจะทำการอย่างอื่นจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี นอกจากนี้ตามมาตรา 21 กำหนดให้คณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งตามมาตรา 20 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้สมาชิกที่ได้รับการคัดเลือกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแต่ละแปลงตามผังที่อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ (ปัจจุบันคืออธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) กำหนด รวมทั้งมีอำนาจในการส่งเสริมการเกษตรและกิจกรรมอื่นเพื่อพัฒนาการสังคมและเศรษฐกิจของนิคมสร้างตนเอง นอกจากนี้มาตรา 23 ยังกำหนดให้ผู้ปกครองนิคมแสดงเขตที่ดินที่จะแบ่งให้แก่สมาชิกนิคมนั้น ๆ ไว้ในแผนผังที่ดินของนิคมสร้างตนเอง จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า รัฐจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นมาก็เพื่อให้ราษฎรได้มีที่ดินทำการเกษตรและตั้งเคหสถานบ้านเรือน โดยรัฐจะเข้าไปจัดแบ่งที่ดินเป็นแปลง ๆ และช่วยเหลือส่งเสริมให้ทำการเกษตรในแปลงที่ดินที่จัดให้มีประสิทธิภาพ เมื่อพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มีวัตถุประสงค์และมีกระบวนการจัดการที่ดินในเขตนิคมดังที่กล่าวมา การที่จำเลยซึ่งครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินส่วนที่เป็นที่ตั้งทางพิพาทไม่ยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อไปทำการเกษตรในที่ดินที่ทางราชการจัดให้แก่โจทก์ จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง และการจัดแปลงที่ดินในเขตนิคมที่ประสงค์จะให้สมาชิกของนิคมได้ใช้ประโยชน์ในแปลงที่ดินที่ทางนิคมจัดให้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เปิดทางกับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วมีคำพิพากษาใหม่ในประเด็นที่ศาลฎีกายังไม่ได้วินิจฉัย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาคดีใหม่

Share