คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 529/2563

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) ซึ่งทางราชการได้ออกใบจองให้แก่ ส. ซึ่งทางราชการยังไม่ได้ให้สิทธิครอบครองอย่างเด็ดขาดแก่ ส. ส. เพียงแต่มีสิทธิเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินโดยต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด รวมทั้งเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด และต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจอง แต่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดก ดังนั้น แม้ ส. ได้ขายที่ดินพิพาทแก่ ป. โดยส่งมอบการครอบครองที่ดินและใบจองให้ ป. ยึดถือ แต่การซื้อขายที่ดินดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอน นิติกรรมการซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับ ป. เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย เป็นโมฆะ ที่ดินจึงยังคงเป็นของรัฐ แต่การที่ ส. ส่งมอบการครอบครองให้แก่ ป. แสดงว่า ส. สละเจตนาครอบครอง ไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง แม้การซื้อที่ดินของ ป. จะไม่สามารถยกขึ้นอ้างต่อรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกัน เมื่อ ป. ครอบครองและทำประโยชน์มาตลอดตั้งแต่ปี 2520 ที่ซื้อจาก ส. จากนั้นได้แบ่งแยกให้จำเลยทั้งสามและ ด. เข้าครอบครองและทำประโยชน์ต่อมา จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ ซึ่งเป็นบุตรของ ส. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 430 เล่ม 18 หน้า 87 ให้จำเลยทั้งสามส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยทั้งสามเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินอีก และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามพร้อมบริวารจะออกจากที่ดินพิพาทดังกล่าว
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 20,000 บาท และจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 15,000 บาท
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลและได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนาย ส. ส่วนนาง ด. และจำเลยทั้งสามเป็นบุตรของนาย ป. เมื่อปี 2520 ทางราชการออกใบจองที่ดินพิพาท (น.ส.2) เลขที่ 430 เนื้อที่ 48 ไร่ 20 ตารางวา ให้แก่นาย ส. ออกใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 428 เนื้อที่ 22 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ให้แก่นาย อ. และออกใบจอง (น.ส.2) ไม่ทราบเลขที่และเนื้อที่ที่ดินให้แก่นาย ร. ที่ดินทั้งสามแปลงมีอาณาเขตติดต่อกัน ตั้งอยู่ที่ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ โดยที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 428 ของนาย อ. อยู่ทางทิศตะวันตก ถัดไปทางทิศตะวันออกเป็นที่ดินพิพาทตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 430 ของนาย ส. และที่ดินตามใบจอง (น.ส.2) ของนาย ร. ตามลำดับ นาย ส. ถึงแก่ความตายในปี 2540 แต่ก่อนนาย ส. ถึงแก่ความตาย นาย ส. ขายที่ดินพิพาทตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 430 ให้แก่นาย ป. โดยมอบที่ดินพิพาทให้ครอบครองทำประโยชน์พร้อมกับส่งมอบใบจอง (น.ส.2) ต่อมาปี 2558 ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ส. โจทก์ได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรละหานว่า ใบจองที่ดินพิพาท (น.ส.2) เลขที่ 430 สูญหาย เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 430 ให้โจทก์ โจทก์จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 430 ใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก ต่อมาในปี 2559 จำเลยที่ 1 และนาง ด. ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทตามใบจอง (น.ส.2) เลขที่ 430 กลับคืนไปเป็นชื่อนาย ส. ให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนาย ส. โอนที่ดินพิพาทตามใบจองดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และนาง ด. กับให้ส่งมอบใบแทนใบจองดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 และนาง ด. ตามคดีหมายเลขดำที่ 139/2559 ของศาลชั้นต้น จากนั้นโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออกโฉนดที่ดินได้เนื้อที่ 56 ไร่ 3 งาน 80 6/10 ตารางวา จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนาง ด. คัดค้านว่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนาง ด. ต่อมาจำเลยที่ 1 และนาง ด. ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 139/2559 และจำเลยทั้งสามมาฟ้องโจทก์เป็นจำเลยเป็นคดีใหม่ขอให้เพิกถอนการขอออกโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ตามคดีหมายเลขดำที่ 465/2559 ของศาลชั้นต้น ปัจจุบันต้นฉบับใบจองที่ดินพิพาท (น.ส.2) เลขที่ 430 อยู่กับจำเลยที่ 1 และจำเลยทั้งสามเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินด้านทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ 2 งาน 64 2/10 ตารางวา ถัดไปทางทิศตะวันออกจำเลยที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ 3 งาน 20 2/10 ตารางวา และจำเลยที่ 3 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ 1 งาน 96 2/10 ตารางวา
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยทั้งสาม เห็นว่า ทางราชการได้ออกใบจองที่ดินพิพาทให้แก่นาย ส. ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1 ได้ให้คำนิยามคำว่า “ใบจอง” หมายความว่า “หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว” จากคำนิยามดังกล่าวถือได้ว่าทางราชการยังไม่ได้ให้สิทธิครอบครองอย่างเด็ดขาดแก่นาย ส. นาย ส. เพียงแต่มีสิทธิเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด รวมทั้งเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด แต่ในระหว่างที่นาย ส. ได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินพิพาท นาย ส. จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้จับจอง แต่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก” ดังนั้น แม้ภายหลังจากปี 2520 ที่นาย ส. ได้รับใบจองแล้วได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่นาย ป. โดยส่งมอบการครอบครองที่ดินและใบจองให้แก่นาย ป. ยึดถือไว้ก็ตาม แต่การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนาย ส. กับนาย ป. ยังอยู่ในระหว่างระยะเวลาการห้ามโอน ดังนั้นนิติกรรมการซื้อขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทระหว่างนาย ส. กับนาย ป. เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นของรัฐ แต่อย่างไรก็ตามการที่นาย ส. ขายที่ดินพิพาทให้แก่นาย ป. และส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่นาย ป. แล้ว แสดงว่านาย ส. สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง แม้การซื้อที่ดินของนาย ป. จะไม่อาจยกขึ้นอ้างต่อรัฐได้ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกันเมื่อนาย ป. เข้าครอบครองและทำประโยชน์ตลอดมาตั้งแต่ปี 2520 ที่ซื้อจากนาย ส. จากนั้นได้แบ่งแยกให้แก่จำเลยทั้งสามกับนาง ด. เข้าครอบครองและทำประโยชน์ต่อมา จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share