คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 591/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของรวมในที่นาพิพาทอันเป็นที่ดินมือเปล่า จำเลยไปแจ้งการครอบครองที่พิพาทเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวและยื่นคำขอคำรับรองทำประโยชน์ กับยื่นคำขอจดทะเบียนนิติกรรมขายฝาก โจทก์รู้แต่ก็นิ่งเสียไม่คัดค้าน แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้ให้จำเลยแสดงตนเป็นเจ้าของนาพิพาทแต่ผู้เดียว โดยยินยอมให้จำเลยขายฝากที่พิพาท การขายฝากจึงผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 วรรค 2
จำเลยคนหนึ่งขาดนัดมาแต่ต้นและมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่รูปคดีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จำเลยจึงได้รับผลตามคำพิพากษาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ได้ให้ผู้มีชื่อเช่าที่นาซึ่งโจทก์ได้รับจากบิดามา โดยแบ่งข้าวจากผู้เช่าคนละครึ่งทุกปี จำเลยที่ ๓ กับพวกมาแย่งข้าวจากผู้เช่าน่าโจทก์ไป โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุตรโจทก์ขายฝากจำเลยที่ ๑ ไว้แล้วไม่ไถ่ถอน นาจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาข้าวและขับไล่กับห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่นาพิพาท
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า นาพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นของจำเลยที่ ๒ ขายฝากจำเลยที่ ๑ ไว้ จำเลยที่ ๑ ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตเปิดเผย และจดทะเบียนสิทธิได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความ
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ สู้ว่าเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่านาพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง และให้คืนหรือใช้ราคาข้าว
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่นาพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า เป็นมรดกได้แก่โจทก์และสามีในฐานเป็นสินสมรส เมื่อสามีตายส่วนของสามีจึงตกได้แก่โจทก์ และจำเลยที่ ๒ ที่นาพิพาทจึงเป็นทรัพย์รวม เมื่อทางราชการประกาศให้ผู้มีที่ดินมือเปล่าแจ้งการครอบครอง จำเลยที่ ๒ ไปแจ้งการครอบครองที่พิพาทเป็นเจ้าของผู้รับมรดกแต่ผู้เดียว โจทก์รู้แล้วไม่แก้ไขให้ถูกต้อง ต่อมาจำเลยที่ ๒ ยื่นคำขอคำรับรองทำประโยชน์และยื่นคำขอจดทะเบียนนิติกรรมขายฝาก ซึ่งโจทก์รู้แต่นิ่งเสียไม่ดำเนินการคัดค้าน แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้ให้จำเลยที่ ๒ แสดงตนเป็นเจ้าของนาพิพาทแต่ผู้เดียว โดยยินยอมให้จำเลยที่ ๒ ขายฝากที่พิพาทให้จำเลยที่ ๑ การขายฝากจึงผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๑ วรรค ๒ ส่วนจำเลยที่ ๒ แม้จะขาดนัดมาแต่ต้นและมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่เนื่องจากรูปคดีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งยากได้ จำเลยที่ ๒ จึงได้รับผลตามคำพิพากษาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๕(๑) และ ๒๔๗
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share