คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3732/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มีประกันที่ไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกัน โดยอ้างว่าเกิดขึ้นเพราะความพลั้งเผลอตามความในพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 97 ซึ่งศาลอาจอนุญาตให้แก้ไขโดยกำหนดให้คืนส่วนแบ่งหรือกำหนดการอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรนั้น คำว่าให้คนส่วนแบ่ง แสดงว่าผู้ขอได้รับชำระหนี้ไปแล้ว จึงต้องมีการคืน และการได้รับชำระหนี้ แสดงว่าศาลได้สั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้แล้ว ดังนั้น การขอแก้ไขคำขอรับชำระหนี้ย่อมทำได้จนกว่าจะได้จัดการแบ่งทรัพย์สินครั้งที่สุด แม้คำสั่งให้รับชำระหนี้จะถึงที่สุดไปแล้ว หรือเจ้าหนี้ผู้นั้นจะได้เคยยื่นคำขอแก้ไขมาแล้วและได้ขอถอนคำร้องไปก็ตาม
ความพลั้งเผลออันเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ของผู้ร้อง และเกิดขึ้นในระหว่างมีการสับเปลี่ยนหน่วยงานของผู้ร้อง โดยไม่มีเหตุผลที่ผู้ร้องจะต้องปกปิดเพื่อเอาเปรียบเจ้าหนี้อื่น จึงไม่เหตุผลสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้แก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ของจำเลย ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ โดยมิได้แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ต่อมาผู้รัองทราบว่าการยื่นคำร้องในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันนั้นผิดพลาดเนื่องจากความพลั้งเผลอ ความจริงหนี้ดังกล่าวได้มีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกัน ผู้ร้องได้เคยยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อความในรายการแแห่งคำขอรับชำระหนี้ต่อศาลแล้ว ระหว่างไต่สวนปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายและยกเลิกการล้มละลาย ผู้ร้องจึงขอถอนคำร้องดังกล่าว ต่อมาวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๒๘ ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ผู้ร้องจึงขอแก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้อันเนื่องจากความพลั้งเผลอโดยเพิ่มรายละเอียดแห่งทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน และขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๙๖ (๓)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า การยื่นคำขอรับชำระหนี้แบบเจ้าหนี้ไม่มีประกันของผู้ร้องมิใช่เรื่องพลั้งเผล แต่เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ร้องเอง ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอแก้ไขในคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องได้คัดค้านคำสั่งดังกล่าวแล้ว ภายหลังได้ขอถอนคำร้องไป และศาลสั่งจำหน่ายคดี จึงมีผลเท่ากับมิได้ยื่นคำร้อง ผู้ร้องจึงหมดสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อความในคำขอรับชำระหนี้ ทั้งการยื่นคำขอแก้ไขกรณีนี้จะต้องยื่นก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอไป หากศาลมีคำสั่งแล้วคู่ความฝ่ายใดไม่เห็นด้วยก็ชอบที่ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์เท่านั้น ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อความในรายการคำขอรับชำระหนี้ได้อีกหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันเมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยไม่แจ้งว่าเป็นหนี้มีประกัน วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๖ ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอแก้ไขข้อความในรายการคำขอรับชำระหนี้แบบเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๙๖ (๓) โดยอ้างเหตุพลั้งเผลอมาตรา ๙๗ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งยกคำร้อง วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๖ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอแก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวอีก แต่ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำขอนั้น ผู้ร้องได้ขอถอนคำร้องดังกล่าวเสีย เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ อ้างว่าศาลเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้และให้ยกเลิกการล้มละลายแล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำหน่ายคดี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการสอบสวนแล้วเสนอความเห็นให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้แบบเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามคำขอเดิม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องทราบคำสั่งดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๒๘ วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๘ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อความในรายการคำขอรับชำระหนี้เป็นแบบเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา ๙๖ (๓) โดยอ้างเหตุพลั้งเผลอตามมาตรา ๙๗ เห็นว่า การที่ผู้ร้องได้ขอถอนคำร้องขอแก้ไขข้อความในรายการคำขอรับชำระหนี้
ฉบับลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๖ โดยศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้จำหน่ายคดีไปแล้ว ก็ไม่เป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในการยื่นคำขอใหม่ในลักษณะเดียวกันอีก ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำขอใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๖ พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๕๓ และการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำการสอบสวนแล้วมีความเห็นให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้แบบเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วย โดยผู้ร้องมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นก็ตาม ผู้ร้องก็มีอำนาจยื่นคำขอดังกล่าวได้ เพราะพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มิได้บัญญติห้ามไว้แต่ประการใด ทั้งข้อความมาตรา ๙๗ ระบุว่า “….ในกรณีเช่นนี้ศาลอนุญาตให้แก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้โดยกำหนดให้คืนส่วนแบ่งหรือกำหนดอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้” คำว่าให้คืนส่วนแบ่ง แสดงว่าผู้ขอได้รับชำระหนี้ไปแล้ว จึงต้องมีการคืน และการที่ได้รับชำระหนี้แสดงว่าศาลได้สั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้แล้ว ดังนั้นการขอแก้ไขคำขอรับชำระหนี้แม้คำสั่งให้รับชำระหนี้จะถึงที่สุดไปแล้ว ผู้ร้องก็ยังไม่มีอำนาจขอให้เปลี่ยนแปลงได้จนกว่าจะจัดการแบ่งทรัพย์สินครั้งที่สุด
ปัญหาว่า ผู้ร้องมิได้แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามคำขอเดิมนั้นเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องเป็นนิตุบุคคล ประกอบธุรกิจเป็นธนาคารพาณิชย์ ย่อมมีบุคลากรหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายจะต้องปฏิบัติงานไปตามหน้าที่ ไม่มีเหตุให้น่าระแวงว่าบุคคลเหล่านั้นจะแกล้งปฏิบัติงานให้ผิดพลาดเพื่อเอาเปรียบบุคคลภายนอก เพราะผลประโยชน์มิได้ตกเป็นของส่วนตัวผู้ร้องนำสืบว่า ข้อผิดพลาดได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓ เพราะพนักงานพิมพ์ของผู้ร้องมิได้พิมพ์รายการที่ดินที่จำนองเป็นประกันไว้ในสัญญา เนื่องจากพนักงานที่ไปจดทะเบียนรับจำนองเป็นพนักงานอีกฝ่ายหนึ่ง และมิได้แจ้งผลของการขอจดทะเบียนจำนองให้ฝ่ายพิมพ์สัญญาทราบทันทีประกอบกับขณะที่ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเวลาที่ผู้ร้องกำลังสับเปลี่ยนหน่วยงาน จึงทำให้สับสนและเกิดข้อผิดพลาดดังกล่าวขึ้น เห็นว่า เป็นข้อนำสืบที่มีเหตุผล ผู้ร้องดำเนินธุรกิจทางการเงินน่าจะปฏิบัติงานให้เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทั้งการจำนองที่ดินมีหลายแปลงและเป็นนิติกรรมที่กระทำโดยเปิดเผย มีหลักฐานแน่ชัดตรวจสอบได้ง่าย ไม่มีเหตุผลที่ผู้ร้องจะปกปิดเพื่อเอาเปรียบเจ้าหนี้อื่น ๆ โดยมิชอย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่ผู้ร้องไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอ ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำขอแก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับขำระหนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำขอของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า อนุญาตให้ผู้ร้องแก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้ได้ตามคำร้อง ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๙๗

Share