แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายเรื่องกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 54 (2) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 มีผลเท่ากับจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อ
ศาลฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง คำสั่งดังกล่าวไม่ถึงที่สุด จำเลยจึงชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยก็ดี ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยก็ดี ล้วนเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อสำนวนขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
คดีอาญา การใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน
ป.วิ.อ. ภาค 4 ลักษณะ 1 โดยมาตรา 193 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ จึงนำ ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ ชอบที่จะต้องยกคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกานั้นเสียและศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์ของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสอง แล้วดำเนินการต่อไป
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ วรรคสอง, ๒๖๘ วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง แต่กระทงเดียวจำคุก ๓ ปี จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยมิใช่มีเพียงเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย กรณีไม่เข้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว ไม่ว่าจะอนุญาตหรือยกคำร้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ ให้เป็นที่สุดจึงไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของำจำเลย
จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ มีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายเรื่องกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๔ (๒) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ มีผลเท่ากับจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง คำสั่งดังกล่าวไม่ถึงที่สุด จำเลยจึงชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ การที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยก็ดี ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ มีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยก็ดี ล้วนเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อสำนวนขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ วินิจฉัย พิเคราะห์แล้วที่จำเลยจำเลยอ้างว่าจำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์ โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ทั้งปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ มาใช้บังคับนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีอาญา ซึ่งการใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค ๔ ลักษณะ ๑ โดยมาตรา ๑๙๓ วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ กรณีเช่นนี้จึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ชอบที่จะต้องยกคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาของจำเลยนั้นเสีย
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๕ กับให้ยกคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาของจำเลยเสีย ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๘ วรรคสอง แล้วดำเนินการต่อไป