แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมมีข้อความว่า โจทก์ร่วมมอบอำนาจให้ ร. จัดการแจ้งความเรื่องเช็คคืน โดยไม่ได้ระบุให้มีอำนาจแจ้งความเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย จึงไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายมีเจตนาที่จะให้จำเลยต้องรับโทษ ทั้งเหตุที่แจ้งความร้องทุกข์ก็เพราะไม่ต้องการให้เช็คขาดอายุความ จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7)
เมื่อความผิดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 เป็นคดีความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่มีคำร้องทุกข์ ย่อมห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ ต้องถือว่าไม่ได้มีการสอบสวนโดยชอบพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ ป.อ. มาตรา ๙๑ นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๖๓/๒๕๔๐ หมายเลขดำที่ ๑๓๙๕/๒๕๔๐ และหมายเลขดำที่ ๑๓๙๖/๒๕๔๐ ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัด ปิยกรณ์วัสดุก่อสร้าง ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔ รวม ๕ กระทง ลงโทษจำคุกทุกกระทงรวมเป็น ๒ ปี ๒ เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๖๓/๒๕๔๐ หมายเลขดำที่ ๑๓๙๕/๒๕๔๐ และคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๙๖/๒๕๔๐ นั้น ปรากฏว่าคดีดังกล่าว คดีแรกศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษารอการลงโทษจำคุกจำเลย ส่วน ๒ คดีหลังศาลยังมิได้มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อตามขอได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยรวม ๙ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างไปจากโจทก์ร่วมหลายรายการ แล้วจำเลยได้ออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อเป็นการชำระราคา เมื่อโจทก์ร่วมนำเช็คพิพาทดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมจึงมอบอำนาจให้นางสาวรุ่งนภา ภู่ระหงษ์ ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ฟังว่า การที่นางสาวรุ่งนภาไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน แล้วพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบแล้วนั้น เห็นว่า การที่หนังสือมอบอำนาจระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแจ้งความเรื่องเช็คคืน โดยไม่ได้ระบุให้มีอำนาจแจ้งความเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย และที่ผู้มอบอำนาจกับผู้รับมอบอำนาจเบิกความว่า แจ้งความเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ ไม่ได้กล่าวถึงว่าแจ้งความโดยมีเจตนาที่จะให้ผู้กระทำผิดคือจำเลยได้รับโทษ จึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒ (๗) เมื่อการแจ้งความของนางสาวรุ่งนภาไม่ใช่คำร้องทุกข์ และคดีนี้เป็นคดีความผิดอันยอมความได้ เมื่อไม่มีคำร้องทุกข์ย่อมห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง การสอบสวนของพนักงานสอบสวนในคดีนี้เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ ต้องถือว่าไม่ได้มีการสอบสวนโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.