คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5892/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ลูกหนี้เคยยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดที่ดินคืนให้แก่ลูกหนี้และเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนอื่น ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งถึงที่สุดแล้วว่า การยกเลิกการล้มละลายไม่กระทบถึงการใดที่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กระทำไปแล้ว กรณีตามคำร้องเป็นกรณีที่ได้กระทำไปแล้วไม่มีเหตุที่จะหยิบยกขึ้นพิจารณาใหม่หรือให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถอนการยึดที่ดินตามคำร้องได้การที่ลูกหนี้กลับมาดำเนินกระบวนพิจารณาขอคืนโฉนดที่ดินเป็นคดีนี้อีกโดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักอย่างเดียวกันซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนั้นแล้วเท่ากับเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้(จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2527 และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2528 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้โอนการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 336/2526ของศาลชั้นต้นระหว่าง นายคูณ ดีเป้า โจทก์นายปรีชา ประวิชัย จำเลย ซึ่งเป็นที่ดินส่วนที่เป็นถนนในโฉนดที่ดินเลขที่ 3372 เนื้อที่ 16 ไร่ 38 ตารางวา มีชื่อลูกหนี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เข้ามาไว้ในคดีนี้ และเมื่อวันที่ 11กันยายน 2530 ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 4ว่า ไม่ต้องนำที่ดินโฉนดเลขที่ 3372 ส่วนที่เป็นถนนออกขายทอดตลาดโดยให้ยกเป็นทางสาธารณประโยชน์ ต่อมาวันที่ 15 เมษายน 2531ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครให้ดำเนินการจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 3372 เฉพาะส่วนของลูกหนี้ในส่วนที่เป็นถนนให้เป็นทางสาธารณประโยชน์เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้ส่งโฉนดที่ดินคืนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครแจ้งเหตุขัดข้องว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีผู้ถือกรรมสิทธิ์หลายคน ต้องให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ทุกคนยินยอมด้วย ในที่สุดเมื่อวันที่ 28ธันวาคม 2531 ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 5 ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครดำเนินการรังวัดแบ่งแยกถนนในที่ดินดังกล่าวให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามสภาพที่ปรากฏอยู่จริงและให้ถือว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นการแสดงเจตนาแทนผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคนด้วย และเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2532 ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครให้ดำเนินการตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 5 ครั้นวันที่ 7 ธันวาคม 2533ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายให้ยกเลิกการล้มละลาย ให้ลูกหนี้มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนต่อไป ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2537 ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 3372 คืนลูกหนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกถนนในที่ดินดังกล่าวเป็นทางสาธารณประโยชน์เสร็จแล้วหรือไม่ให้ยกคำร้อง ครั้นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2537 ลูกหนี้ยื่นคำร้องว่าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครยังไม่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินขอให้มีคำสั่งถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครให้ส่งมอบโฉนดที่ดินแก่ลูกหนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นกรณีต้องรังวัดและจดทะเบียนแบ่งแยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ต่อไปให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ลูกหนี้ยื่นคำร้องว่า มติของที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 4ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้เป็นการยกที่ดินของลูกหนี้เพื่อชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย และมติดังกล่าวเกิดจากการฉ้อฉลของนางยุภาวรรณ เกตุศิริ เจ้าหนี้ซึ่งสมรู้ร่วมคิดกับบุคคลภายนอกโดยนางยุภาวรรณได้รับค่าจ้างตอบแทนในการดำเนินการให้ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเช่นนั้นอันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและในการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 6 ก็ไม่ได้ระบุให้ยกที่ดินดังกล่าวเป็นทางสาธารณประโยชน์ ลูกหนี้จึงหลุดพ้นจากการที่จะต้องยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ขอให้มีคำสั่งว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2530 ที่ให้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3372 เฉพาะส่วนของลูกหนี้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายและให้มีคำสั่งถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครยกเลิกหนังสือของศาลที่ให้สำนักงานที่ดินจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดดังกล่าว กับให้สำนักงานที่ดินคืนโฉนดที่ดินแก่ลูกหนี้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง
ลูกหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ลูกหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของลูกหนี้ในข้อที่ว่า เมื่อลูกหนี้หลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายโดยศาลชั้นต้นเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 6 ซึ่งเมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ได้กล่าวถึงการชำระหนี้และทรัพย์สินต่าง ๆ ของลูกหนี้ที่ยังค้างอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจขอให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินของลูกหนี้เป็นทางสาธารณประโยชน์ตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 4ลูกหนี้ย่อมมีสิทธิขอคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 3372 ได้นั้นเห็นว่าปรากฏตามสำนวนคดีขอคืนทรัพย์ว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2536ลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3372คืนให้แก่ลูกหนี้และเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนอื่น โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักในการขอคืนเช่นเดียวกับที่ลูกหนี้ยื่นคำร้องในคดีนี้ว่า เมื่อศาลชั้นต้นเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของลูกหนี้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2533 และให้ยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ กับให้ลูกหนี้มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ เมื่อการแบ่งแยกโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นทางสาธารณะยังไม่แล้วเสร็จ ที่ดินจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้และเจ้าของรวมคนอื่นอยู่ และศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า การยกเลิกการล้มละลายไม่กระทบถึงการใดที่ศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กระทำไปแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 137 กรณีตามคำร้องเป็นกรณีที่ได้กระทำไปแล้ว ไม่มีเหตุที่จะหยิบยกขึ้นพิจารณาใหม่หรือให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถอนการยึดที่ดินตามคำร้องได้ ยกคำร้องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับและปรากฏว่าไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คำสั่งศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดดังนั้น การที่ลูกหนี้กลับมาดำเนินกระบวนพิจารณาขอคืนโฉนดที่ดินเป็นคดีนี้อีกโดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักอย่างเดียวกันซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนั้นแล้วจึงเท่ากับเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ฎีกาของลูกหนี้ข้อนี้และในข้อที่ว่าลูกหนี้ยื่นคำร้องเพื่อขอรับโฉนดที่ดินคืน แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3กลับวินิจฉัยว่าตามคำร้องของลูกหนี้เป็นการกล่าวอ้างว่ามติที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งที่ 4 ขัดต่อกฎหมายเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้น จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคดีได้ เป็นฎีกาไม่เป็นสาระศาลฎีกาไม่วินิจฉัย ฎีกาทุกข้อของลูกหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share