แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญารับจ้างรักษาความปลอดภัยโดยได้แนบสำเนาสัญญาจ้างมาท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องและระบุข้อความในสัญญาแต่ละข้อแสดงความรับผิดของจำเลยกรณีทรัพย์สินของผู้ว่าจ้างหายไปโดยการโจรกรรม อันเป็นมูลแห่งคำฟ้องไว้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง แม้โจทก์จะมิได้มอบอำนาจเป็นหนังสือให้ ส. บอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลย แต่เมื่อ ส. บอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในนามของโจทก์และโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวแล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 ถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยแล้ว การที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์มิได้ยกสัญญาเอกสารหมาย จ.4ข้อ 11,13 ขึ้นวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่าผู้ว่าจ้างไม่ได้แจ้งเหตุให้จำเลยผู้รับจ้างทราบในทันทีและแจ้งจำนวนค่าเสียหายภายในเวลาที่กำหนด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยใช้แทนโจทก์เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาย่อมกำหนดใหม่ให้ถูกต้องได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้รับจ้างรักษาความปลอดภัยให้แก่ทรัพย์สินของบริษัทห้างคาเธ่ยสรรพสินค้าวงเวียนใหญ่ จำกัดสินค้าของบริษัทดังกล่าวได้ถูกโจรกรรมไปโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทผู้เอาประกันภัย และบริษัทผู้เอาประกันภัยได้โอนสิทธิเรียกร้องจากจำเลยให้โจทก์แล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ถึงวันฟ้องรวม 41,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันของต้นเงิน 40,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า บริษัทห้างคาเธ่ยสรรพสินค้าวงเวียนใหญ่ จำกัดไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบเหตุและค่าเสียหายภายในกำหนด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 11 และ 13 การเสียหายที่เกิดขึ้นไม่อยู่ในวิสัยที่จะป้องกันได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การโอนสิทธิเรียกร้องมิได้กระทำโดยชอบ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2528เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,200 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่โดยจำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้เห็นว่าตามสัญญาข้อใดระบุไว้อย่างไร และเหตุไรจำเลยจึงต้องรับผิดเป็นเงิน 40,000บาท ทั้ง ๆ ที่สัญญามิได้ระบุไว้ดังกล่าว เห็นว่า โจทก์ได้แนบสำเนาสัญญาระหว่าง บริษัทห้างคาเธ่ยสรรพสินค้าวงเวียนใหญ่ จำกัดผู้ว่าจ้างกับ บริษัทกัทส์อันเวสติเกชั่น จำกัด ผู้รับจ้าง (จำเลย)เอกสารหมาย จ.4 ท้ายฟ้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง และระบุข้อความในสัญญาแต่ละข้อแสดงความรับผิดของจำเลยกรณีทรัพย์สินของผู้ว่าจ้างสูญหายไปโดยการโจรกรรมอันเป็นมูลแห่งคำฟ้องไว้ แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองไม่เคลือบคลุมแต่อย่างใด
จำเลยฎีกาต่อไปว่า การแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 วรรคแรก นั้น ต้องทำเป็นหนังสือ การที่โจทก์จะมอบอำนาจให้บอกกล่าวหรือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็ต้องทำเป็นหนังสือ โจทก์มิได้มีพยานหลักฐานมาแสดงว่าได้มอบอำนาจเป็นหนังสือให้นายสมเกียรติ วัชเรศโยธินบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องตามเอกสารหมาย จ.9, จ.10การแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและถือเสมือนว่าไม่ได้มีการแจ้งการโอนแต่อย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะมิได้มอบอำนาจเป็นหนังสือให้นายสมเกียรติ บอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลย แต่เมื่อนายสมเกียรติบอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในนามของโจทก์และโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวล่วงหน้าย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 823 และถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยแล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ศาลอุทธรณ์มิได้ยกสัญญาเอกสารหมาย จ.4ข้อ 11, 13 ขึ้นวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่าบริษัทห้างคาเธย์สรรพสินค้าวงเวียนใหญ่ จำกัด ผู้ว่าจ้างไม่ได้แจ้งเหตุให้จำเลยผู้รับจ้างทราบในทันทีและแจ้งจำนวนค่าเสียหายเป็นลายลักษณ์อักษรภายในเวลา 48 ชั่วโมง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด นั้น พิเคราะห์แล้วฎีกาดังกล่าวของจำเลยเป็นการฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่งคดีนี้มีทุนทรัพย์ 41,000 บาท ซึ่งตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติให้ศาลกำหนดค่าทนายความอัตราขั้นสูงสุดในศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาใช้แทนกันได้ร้อยละ 3ของทุนทรัพย์ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยใช้แทนโจทก์ 2,000 บาท เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาย่อมกำหนดใหม่ให้ถูกต้องได้
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์รวม 2,000 บาท.