คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ต่อเติมอาคารโดยมิได้รับอนุญาตจนถูกพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับไปแล้ว คณะเทศมนตรีเทศบาลโดยนายกเทศมนตรีมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลขอให้บังคับรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมนั้นได้ เพราะถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร 2479 มาตรา 11 วรรค 2 การฟ้องคดีขอให้บังคับรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมนั้น พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร 2479 มาตรา 11 วรรค 2 ให้อำนาจไว้ มิใช่มีฐานะเป็นผู้เสียหาย จึงไม่อยู่ในบังคับเรื่องอายุความตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 51 และต้องใช้อายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 164

ย่อยาว

คดี ๔ สำนวนนี้ ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องจำเลยแต่ละสำนวนเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๒-๓ เป็นเจ้าของตึก จำเลยที่ ๑ แต่ละสำนวนเป็นผู้เช่าตึกอยุ่ และได้ต่อเติมอาคารด้านหลังที่ตนเช่าอยู่ เป็นการเพิ่มน้ำหนักและขยายพื้นที่แก่อาคารนั้นมาก โดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ผิด พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร ๒๔๗๙ และฝ่าฝืนเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพฯ เจ้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจบางรักได้สอบสวนความผิดของจำเลยที่ ๑ ๆ ยอมเสียค่าปรับเสร็จไปแล้ว แต่ไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง จึงฟ้องบังคับรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติม
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การทุกสำนวนจำเลยที่ ๒-๓ ทุกสำนวนต่อสู้ว่า มิได้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงต่อเติม ผู้เช่าตึกแถวได้เปลี่ยนแปลงต่อเติมมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งมิใช่จำเลยที่ ๑ แต่ละสำนวนเป็นผู้ทำ หากแต่เพื่อตัดฟ้องว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ทั้งโจทก์ไม่ใช่นิติบุคคลและ พล.อ.มังกร พรหมโยธีไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีสิทธิฟ้อง
ในวันชี้สองสถานจำเลยที่ ๑ ในสำนวนที่ ๑,๓และ ๔ รับว่าได้ถูกพนักงานสอบสวนปรับเพราะต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ความจริงตนมิได้ต่อเติม ที่ยอมเสียค่าปรับเพื่อให้เสร็จเรื่องไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ ๒-๓ คงให้โจทก์สืบพยาน เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ที่ขาดนัดทุกสำนวนไปฝ่ายเดียว แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ทุกสำนวนรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติม สำหรับจำเลยที่ ๒-๓ ยกฟ้อง
จำเลยทุกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทุกสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คณะเทศมนตรีเทศบาลโดยนายกเทศมนตรี มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นหัวหน้ารับผิดชอบในการบริหารและเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.เทศบาล มาตรา ๓๖ฅ๓๙ และพ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร ๒๔๗๙ มาตรา ๑๑ วรรค ๒ และเมื่อ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร ๒๔๗๙ มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องที่จะบังคับให้ผู้ต่อเติมรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมไว้ ก็ต้องใช้อายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๔ ซึ่งกำหนดไว้ ๑๐ ปีจะใช้อายุความตามป.วิ.อาญา ไม่ได้ เพราะโจทก์ฟ้องคดีนี้มิใช่ฐานะผู้เสียหาย แต่ฟ้องโดยพ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร ๒๔๗๙ โจทก์ฟ้องยังไม่ถึง ๑๐ ปี จึงมีสิทธิฟ้องจำเลย

Share