แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามข้อตกลงการฝากเงินบัญชีกระแสรายวันของธนาคารโจทก์ข้อ 10 ระบุว่า ในกรณีธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายเงินไปก่อนด้วยเหตุใดก็ตาม ทั้งที่เงินฝากคงเหลือในบัญชีของข้าพเจ้ามีไม่พอจ่ายตามเช็คที่มาขอขึ้นเงิน ซึ่งตามปกติธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินนั้นเสียก็ได้นั้น ข้าพเจ้ายอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่เบิกเกินนั้นคืนให้ธนาคารโดยถือเสมือนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารและยินยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินส่วนที่เกินบัญชีให้แก่ธนาคารในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่เบิกเกินจนถึงวันชำระหนี้เงินเบิกเกินคืน ฯลฯ และข้อ 11 ระบุว่า ในกรณีที่ข้าพเจ้านำเช็คฝากเข้าบัญชีและในวันนำฝากนั้นธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายเงินส่วนหนึ่งหรือเต็มมูลค่าเช็คที่นำฝากนั้นให้ไปก่อนโดยที่ธนาคารยังไม่ทราบผลการเรียกเก็บเงิน และเช็คดังกล่าวถูกคืนมาโดยมิใช่เนื่องจากความบกพร่องของธนาคารเอง ข้าพเจ้ายอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่เบิกเกินนั้นคืนให้ธนาคารโดยถือเสมือนหนึ่งว่าได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารและยินยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินส่วนที่เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่ธนาคารในอัตราสูงสุดเท่าที่กฎหมายจะอนุญาต นับแต่วันที่เบิกเกินจนถึงวันชำระหนี้เงินเบิกเกินคืน ฯลฯ ซึ่งข้อความในข้อ 11 นั้นหมายถึงจำเลยนำเช็คมาฝากเข้าบัญชีและโจทก์จ่ายเงินตามเช็คที่มาขอเบิกให้จำเลยไปก่อน แต่แล้วโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ ไม่ใช่กรณีโจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินให้จำเลยไปโดยไม่มีการนำเช็คฝากเข้าบัญชี ซึ่งต้องบังคับกันตามข้อตกลงข้อ 10 เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยนำเช็คมาฝากเข้าบัญชีโดยโจทก์จ่ายเงินตามเช็คที่มาขอเบิกให้จำเลยไปก่อน แต่แล้วโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 จำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาหนองคาย อันเป็นบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยตามวิธีและประเพณีการเบิกเงินเกินบัญชีของธนาคารโดยตกลงว่าจำเลยจะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากโดยเช็คที่โจทก์มอบให้เท่านั้น และในกรณีที่โจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินไปก่อนด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามขณะที่เงินฝากคงเหลือในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายตามเช็ค ซึ่งตามปกติโจทก์จะปฏิเสธการจ่ายเงินก็ได้ จำเลยยอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่เกินไปนั้นคืนให้โจทก์ โดยถือเสมือนว่าจำเลยได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในการนี้จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินส่วนที่เบิกเกินบัญชีไปนั้นแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีแบบทบต้น ตามประเพณีการเบิกเงินเกินบัญชีของธนาคาร หลังจากเปิดบัญชีแล้ว จำเลยได้ใช้เช็คที่โจทก์มอบให้เบิกเงินไปจากโจทก์หลายครั้ง และจำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักกลบลบหนี้กันอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชี เมื่อหักทอนบัญชีกันเพียงวันที่31 พฤษภาคม 2527 จำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่475,679.21 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเป็นหนี้โจทก์อีกต่อไป จึงได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม จำเลยได้รับหนังสือทวงถามแล้วเมื่อวันที่24 มิถุนายน 2527 แต่เพิกเฉย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินที่เบิกเกินบัญชีและดอกเบี้ยอย่างทบต้นจนถึงวันที่24 มิถุนายน 2527 ซึ่งเป็นวันที่บอกเลิกสัญญาเป็นเงิน482,364.78 บาท และขอคิดดอกเบี้ยอย่างไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ19 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2527 ถึงวันที่ 16 ธันวาคม2527 เป็นเงินดอกเบี้ย 43,941.43 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2527 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม2528 เป็นเงินดอกเบี้ย 55,253.90 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2528 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529เป็นเงินดอกเบี้ย 34,384.43 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2529 ถึงวันที่4 มีนาคม 2529 เป็นเงินดอกเบี้ย 13,704.45 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2529 ถึงวันที่ 14กันยายน 2532 (วันฟ้อง) เป็นเงินดอกเบี้ย 255,521.20 บาทรวมเป็นเงินดอกเบี้ย 403,805.41 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน886,170.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน482,364.78 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ทำสัญญาหรือมีข้อตกลงว่าให้ตัดทอนบัญชีทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหักกลบลบหนี้กันแต่อย่างใดจำเลยไม่เคยสั่งจ่ายเช็คหรือนำเช็คไปเบิกเงินขณะที่เงินในบัญชีไม่มี ไม่เคยเบิกเงินเกินบัญชีและรับเงินไปจากโจทก์เลยบัญชีกระแสรายวันที่โจทก์อ้างไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 886,170.19 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน482,364.78 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่1 ตุลาคม 2523 จำเลยได้ขอเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์ สาขาหนองคาย และมีข้อตกลงการฝากเงินบัญชีกระแสรายวันของธนาคารโจทก์ข้อ 10 ว่า “ในกรณีที่ธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายเงินไปก่อนด้วยเหตุใดก็ตาม ทั้งที่เงินฝากคงเหลือในบัญชีของข้าพเจ้ามีไม่พอจ่ายตามเช็คที่มาขอขึ้นเงิน ซึ่งตามปกติธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินนั้นเสียก็ได้นั้น ข้าพเจ้ายอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่เบิกเกินนั้นคืนให้ธนาคารโดยถือเสมือนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารและยินยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินส่วนที่เกินบัญชีให้แก่ธนาคารในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่เบิกเกินจนถึงวันชำระหนี้เงินเบิกเกินคืน ฯลฯ” กับข้อ 11 ว่า “ในกรณีที่ข้าพเจ้านำเช็คฝากเข้าบัญชีและในวันนำฝากนั้น ธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายเงินส่วนหนึ่งหรือเต็มมูลค่าเช็คที่นำฝากนั้นให้ไปก่อน โดยที่ธนาคารยังไม่ทราบผลการเรียกเก็บเงิน และเช็คดังกล่าวถูกคืนมาโดยมิใช่เนื่องจากความบกพร่องของธนาคารเอง ข้าพเจ้ายอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่เบิกเกินนั้นคืนให้ธนาคาร โดยถือเสมือนหนึ่งว่าได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคาร และยินยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินส่วนที่เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่ธนาคารในอัตราสูงสุดเท่าที่กฎหมายจะอนุญาต นับแต่วันที่เบิกเกินจนถึงวันชำระหนี้เงินเบิกเกินคืน ฯลฯ หลังจากเปิดบัญชีแล้วจำเลยได้ใช้เช็คเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ และจำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักกลบลบหนี้หลายครั้งในการหักทอนบัญชีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2527 จำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่จำนวน 475,679.21 บาท โจทก์บอกกล่าวทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่24 มิถุนายน 2527 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามรวมเป็นเงินที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่จำนวน 482,364.78 บาทหลังจากนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยอย่างธรรมดาไม่ทบต้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นในจำนวนเงินที่ค้าง 482,364.78 บาทในอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยระหว่างวันที่25 มิถุนายน 2527 ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2527 อัตราร้อยละ19 ต่อปี วันที่ 17 ธันวาคม 2527 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2528อัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี วันที่ 2 สิงหาคม 2528 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2529 อัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี และวันที่ 2 มกราคม 2529ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 อัตราร้อยละ 17 ต่อปี เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามข้อตกลงข้อ 10 อันเป็นการคิดตามข้อตกลงข้อ 11 ซึ่งจำเลยยินยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีให้แก่โจทก์ในอัตราสูงสุดเท่าที่กฎหมายจะอนุญาต แต่ข้อตกลงข้อนี้ระบุชัดเจนว่าใช้ในกรณีที่จำเลยนำเช็คฝากเข้าบัญชี และโจทก์ได้ผ่อนผันจ่ายเงินส่วนหนึ่งหรือเต็มมูลค่าตามเช็คที่นำฝากนั้นให้ไปก่อนแล้วเช็คดังกล่าวถูกคืน ซึ่งหมายถึงจำเลยนำเช็คมาฝากเข้าบัญชีและโจทก์จ่ายเงินตามเช็คที่มาขอเบิกให้จำเลยไปก่อนแต่แล้วโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ ไม่ใช่กรณีโจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินให้จำเลยไปโดยไม่มีการนำเช็คฝากเข้าบัญชี ซึ่งต้องบังคับกันตามข้อตกลงข้อ 10 เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยนำเช็คมาฝากเข้าบัญชีโดยโจทก์จ่ายเงินตามเช็คที่มาขอเบิกให้จำเลยไปก่อน แต่แล้วโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีดอกเบี้ยจำนวนส่วนที่โจทก์คิดเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยไม่ต้องรับผิด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยที่เกินร้อยละ 15 ต่อปีด้วยไม่ถูกต้อง ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยระหว่างวันที่25 มิถุนายน 2527 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 ในอัตราร้อยละ 15ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 482,364.78 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์