คำวินิจฉัยที่ 17/2545

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๗/๒๕๔๕

วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) และมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่งธนบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และวรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีที่มีการนำคดีซึ่งมีข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจแตกต่างกันตั้งแต่สองศาลขึ้นไป และศาลเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในอำนาจของศาลใดศาลหนึ่งที่รับฟ้อง

ข้อเท็จจริงในคดี
นายจำนงค์ ธรรมมโนวานิช กับพวก ยื่นเรื่องร้องทุกข์และเพิ่มเติมคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อ้างว่า กรุงเทพมหานคร และ
สำนักงานเขตบางแค กำหนดจุดก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนนเพชรเกษม บริเวณห้างเทสโก้ โลตัส ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาบางแค โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้สะพานอยู่หน้าร้านค้าของนายจำนงค์ และเจ้าพนักงานท้องถิ่น (สำนักงานเขตบางแค) เคยมีคำสั่งแจ้งให้บริษัทโชคประพันธ์ก่อสร้าง จำกัด ผู้ดำเนินการก่อสร้าง ระงับการก่อสร้างสะพานลอยดังกล่าวแล้วตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่บริษัทโชคประพันธ์ก่อสร้าง จำกัด อุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางได้รับโอนเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยนายจำนงค์ ธรรมมโนวานิช กับพวก ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งดังนี้
๑. ให้กรุงเทพมหานครระงับการก่อสร้างสะพานคนเดินข้าม
๒. ให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี
๓. ให้กำหนดจุดก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามใหม่
๔. เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
ในขณะเดียวกัน นายจำนงค์ ธรรมมโนวานิช เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทเอกชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็ม จำกัด (เจ้าของห้างเทสโก้ โลตัสฯ) ที่ ๑ และบริษัทโชคประพันธ์ก่อสร้าง จำกัด (ผู้รับเหมาก่อสร้างสะพานคนเดินข้าม) ที่ ๒ เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรี อ้างว่าการก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนเพชรเกษมทำให้อาคารร้านค้าของโจทก์เสียหายและรายได้จากการค้าลดลง ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายและรื้อถอนเสาตอม่อสะพานดังกล่าวออกไปและทำให้ทางเท้ากลับคืนสู่สภาพเดิม และต่อมาศาลแพ่งธนบุรีได้มีคำสั่งเรียกกรุงเทพมหานครเข้าเป็นจำเลยร่วมตามที่โจทก์ร้องขอ

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ เมื่อศาลปกครองกลางรับโอนคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว ศาลอื่นที่รับคดีนั้นไว้พิจารณาก่อนศาลปกครองกลางเปิดทำการมีอำนาจพิจารณาคดีนั้นต่อไปหรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติรับรองสิทธิในการฟ้องร้องคดีต่อศาลไว้ในมาตรา ๒๘ วรรคสอง ว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้” และในขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ได้กำหนดลักษณะคดี ที่บุคคลจะใช้สิทธิทางศาลแตกต่างกันระหว่างคดีปกครองและคดีประเภทอื่น โดยในมาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองโดยเฉพาะ คดีปกครองทุกคดี จึงควรได้รับการพิจารณาและพิพากษาในศาลปกครอง ทั้งนี้เพื่อให้แนวบรรทัดฐานที่ต่อเนื่องและสอดคล้องกันตามหลักกฎหมายปกครอง เมื่อศาลปกครองเปิดทำการแล้ว ศาลอื่นย่อมไม่มีอำนาจรับคดีปกครองไว้พิจารณาพิพากษา เว้นแต่เป็นคดีปกครองที่ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมไว้ก่อนที่ศาลปกครองจะเปิดทำการ ศาลยุติธรรมนั้นย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไปได้ เพื่อเป็นการคุ้มครองบุคคล ในการใช้สิทธิทางศาล ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๒/๒๕๔๔ ระหว่างศาลจังหวัดน่านและศาลปกครองกลาง
คดีนี้นายจำนงค์ ธรรมมโนวานิช กับพวก ซึ่งอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการออกคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และยื่นเรื่องอุทธรณ์คำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นต่อคณะกรรมการควบคุมอาคาร ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นการดำเนินคดีปกครองต่อหน่วยงานบริหารก่อนมีการจัดตั้งศาลปกครอง ต่อมาเมื่อศาลปกครองเปิดทำการ ศาลปกครองกลางจึงได้รับโอนคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ต้องการให้คดีปกครองทุกคดีได้รับการพิจารณาพิพากษาในศาลปกครอง เมื่อศาลปกครองกลางได้รับโอนคดีปกครองใดไว้พิจารณาแล้ว แม้ศาลอื่นได้รับคดีปกครองนั้นไว้พิจารณาก่อนศาลปกครอง เปิดทำการก็ตาม ศาลอื่นนั้นย่อมไม่อาจรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปได้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ แตกต่างจากคดีในคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒/๒๕๔๔ ระหว่างศาลจังหวัดน่านและศาลปกครองกลาง ซึ่งในคดีก่อนไม่มีการยื่นเรื่องใด ๆ ให้คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณา จึงไม่มีกรณีที่ศาลปกครองกลางจะต้องรับโอนคดีตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
อย่างไรก็ตามคดีที่นายจำนงค์กับพวกเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทเอกชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็ม จำกัด ที่ ๑ และ บริษัทโชคประพันธ์ก่อสร้าง จำกัด ที่ ๒ เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรี โดยมีข้อหาหนึ่งอ้างว่า “…จำเลยที่ ๒ โดยการว่าจ้างของจำเลยที่ ๑ ได้ลงมือขุดเจาะเสาเข็ม เพื่อทำการหล่อเสาตอม่อของสะพานลอยคนเดินข้าม จำเลยที่ ๒ กระทำโดยไม่ใช้ความระมัดระวังเยี่ยงวิญญูชน ทั่วไปจะพึงใช้ความระมัดระวัง เป็นเหตุให้อาคารร้านค้าของโจทก์ได้รับความเสียหาย ผนังตึกและฝ้าเพดานแตกร้าวเป็นทางยาว หากจะซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพเดิมต้องใช้เงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท…” เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๒ กระทำการก่อสร้างโดยประมาทอันเป็นการกระทำทางกายภาพ ซึ่งลักษณะคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ (๓) ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑/๒๕๔๕ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ฉะนั้น ศาลแพ่งธนบุรีจึงมีอำนาจในการออกหมายเรียกกรุงเทพมหานครเข้ามาเป็นจำเลยร่วมรับผิดต่อโจทก์เฉพาะกรณีที่เกิดจากการกระทำทางกายภาพเท่านั้น ส่วนข้อหาอื่นอันมีลักษณะเป็นคดีปกครอง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ศาลแพ่งธนบุรีจึงไม่อาจเรียกกรุงเทพมหานครเข้าเป็นจำเลยร่วมได้
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายจำนงค์ ธรรมมโนวานิช โจทก์ บริษัทเอกชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเต็ม จำกัด บริษัทโชคประพันธ์ก่อสร้าง จำกัด จำเลย และ กรุงเทพมหานคร จำเลยร่วม ที่พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขและกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม อันมีลักษณะเป็นคดีปกครองที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งได้รับโอนมาตามมาตรา ๑๐๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง แต่คดีที่เกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดอันเกิดจากการกระทำทางกายภาพ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลแพ่งธนบุรี

นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share