แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์จำเลยยินยอมให้คู่สมรสหย่าโดยความยินยอมได้การที่โจทก์จำเลยทำหนังสือหย่ากันด้วยความสมัครใจ ย่อมมีผลใช้บังคับกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 แม้โจทก์กับจำเลยจะมิได้จดทะเบียนสมรสโดยนายทะเบียนประจำสำนัก-นายทะเบียนอำเภอหรือกิ่งอำเภอ หรือโดยนายทะเบียน ณ ที่ทำการสถานทูตหรือกงสุลไทยก็ตาม แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการหย่าแล้วเมื่อจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนหย่า โจทก์จึงต้องฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันเพื่อโจทก์จะได้ดำเนินการให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนเพื่อให้การหย่าสมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว คำพิพากษาของศาลที่ให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันมีสภาพใช้บังคับได้ ส่วนจะมีผลใช้บังคับในประเทศอังกฤษหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มิใช่เป็นการขยายเขตอำนาจศาลไทยออกไปนอกราชอาณาจักรเพราะศาลมิได้บังคับให้นายทะเบียน สำนักงานทะเบียน ณ ประเทศอังกฤษ ทำการจดทะเบียนหย่าให้แก่โจทก์จำเลยแต่ประการใด
แม้โจทก์กับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกันในต่างประเทศตามแบบของต่างประเทศหากโจทก์จำเลยประสงค์จะจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายก็สามารถจดทะเบียนหย่าในประเทศไทยตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว เมื่อได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวแล้วการหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยย่อมสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1515 และสามารถใช้ยันบุคคลภายนอกได้
เมื่อโจทก์จำเลยทำหนังสือหย่ากันเองถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เท่ากับทั้งสองฝ่ายตกลงยอมไปร้องขอต่อนายทะเบียนให้จดทะเบียนการหย่าตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว จำเลยจะปฏิเสธไม่ยอมไปร้องขอให้นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าโดยไม่มีเหตุอันสมควรไม่ได้ เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนหย่าแต่ไม่ยอมปฏิบัติ เท่ากับจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุหย่าได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ณ ประเทศอังกฤษและอยู่กินร่วมกันที่บ้านของบิดาโจทก์ที่กรุงเทพมหานคร หลังจากโจทก์กับจำเลยอยู่กินร่วมกันระยะหนึ่ง จำเลยได้ประพฤติตนเป็นคนเสเพลไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตร ดูหมิ่นโจทก์และบิดาของโจทก์ จงใจทิ้งร้างโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก โจทก์เคยฟ้องหย่ากับจำเลยต่อศาลแพ่งเมื่อต้นปี ๒๕๒๘ จำเลยก็ติดต่อขอตกลงกับโจทก์โดยตกลงยินยอมทำสัญญาแยกกันอยู่ ให้อำนาจปกครองบุตรตกอยู่กับโจทก์และจะไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ในภายหลัง โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยจะปฏิบัติตามสัญญา จึงได้ถอนฟ้องคดี ต่อมาจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ และยังคงไม่ให้ความอุปการะเลี้ยงดูโจทก์กับบุตร การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์และจงใจทิ้งร้างโจทก์ไปเป็นเวลาเกินกว่า ๑ ปี และโจทก์ยังถือว่าจำเลยได้ทำสัญญาจะจดทะเบียนหย่ากับโจทก์แล้ว แต่จำเลยหาได้ปฏิบัติตามสัญญาไม่ ขอศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากจำเลยไม่ยินยอมไปจดทะเบียนการหย่าให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและศาลชั้นต้นก็ไม่มีอำนาจพิพากษาตามคำฟ้อง เพราะโจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันในประเทศอังกฤษตามแบบที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการสมรสแห่งประเทศอังกฤษ โจทก์กับจำเลยไม่เคยจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายไทย ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนแสดงถึงการจดทะเบียนสมรสซึ่งเจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยเก็บไว้ในประเทศไทย จึงไม่อาจจดทะเบียนการหย่าในประเทศไทย ศาลชั้นต้นไม่อาจจะพิพากษาว่าหากจำเลยไม่ไปทำการจดทะเบียนหย่า ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยเพราะจะเป็นการขยายเขตอำนาจศาลพ้นอาณาเขตของประเทศไทย จำเลยไม่เคยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาหรือความสัมพันธ์ในครอบครัวดังโจทก์กล่าวอ้าง จำเลยมิได้ดูหมิ่นโจทก์หรือบิดาของโจทก์ คดีของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนหย่าให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันคำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๑โจทก์ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยกับจำเลยซึ่งเป็นคนสัญชาติอินเดีย ได้จดทะเบียนสมรสกัน ณ สำนักงานทะเบียนเขตเชลซี ท้องที่รอเยลโบโร แห่งเคนซิงตันและเชลซี ประเทศอังกฤษ ถูกต้องตามแบบที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการสมรส ค.ศ.๑๙๔๙ ของประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยได้อยู่กินฉันสามีภริยากันที่บ้านบิดาโจทก์ที่กรุงเทพมหานคร และเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๒๘ โจทก์กับจำเลยได้ทำหนังสือหย่ากันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย และมีพยานลงลายมือชื่อ ๒ คน ที่จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อแรกว่า ศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันเพราะการหย่าโดยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๔ มุ่งหมายเฉพาะกรณีคู่สมรสได้ทำการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ เท่านั้น กล่าวคือต้องเป็นกรณีโจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘คือต้องเป็นการจดทะเบียนสมรสโดยนายทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนอำเภอหรือกิ่งอำเภอ หรือโดยเจ้าพนักงานทูตหรือกงสุลไทย ณ ที่ทำการสถานทูตหรือสถานกงสุลไทย จึงจะพิพากษาให้คู่สมรสหย่ากันได้นั้น เห็นว่า การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสซึ่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายเป็นคนต่างด้าวนั้นจะมีผลใช้บังคับหรือไม่ ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ มาตรา๒๖ ซึ่งบัญญัติว่า การหย่าโดยความยินยอมย่อมสมบูรณ์ ถ้ากฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองระบบกฎหมายของประเทศที่อนุญาตให้มีการหย่าด้วยความยินยอมของสามีและภริยาทั้งสองฝ่าย หมายความว่าการหย่าโดยความยินยอมของสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายจะใช้บังคับได้ต่อเมื่อกฎหมายของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายยินยอมให้หย่าโดยความยินยอมได้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า ตามกฎหมายแห่งสัญชาติของโจทก์และจำเลยคือกฎหมายของประเทศไทยและอินเดียต่างก็ยินยอมให้คู่สมรสหย่าโดยความยินยอมได้ และโจทก์กับจำเลยก็ได้ทำหนังสือหย่ากันด้วยความสมัครใจ การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๔ แม้โจทก์กับจำเลยจะมิได้จดทะเบียนสมรสโดยนายทะเบียนประจำสำนักนายทะเบียนอำเภอหรือกิ่งอำเภอหรือโดยนายทะเบียน ณ ที่ทำการสถานทูตหรือกงสุลไทยก็ตาม เมื่อโจทก์ฟ้องหย่าโดยอาศัยหนังสือหย่าฉบับดังกล่าว ศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิพากษาได้ ที่จำเลยฎีกาว่า แม้การจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายของประเทศอังกฤษจะฟังได้ว่าเป็นการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์และจำเลยก็ไม่อาจปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๕ คือไม่สามารถไปจดทะเบียนหย่าในราชอาณาจักรไทย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๑๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าการใด ๆ อันเกี่ยวกับฐานะแห่งครอบครัว ได้ทำขึ้นในต่างประเทศซึ่งกฎหมายแห่งประเทศที่ทำขึ้นนั้นบัญญัติไว้ ผู้มีส่วนได้เสียจะขอให้บันทึกในประเทศไทยก็ได้ แต่ต้องยื่นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการนั้นโดยมีคำรับรองถูกต้องพร้อมกับคำแปลภาษาไทยซี่งฝ่ายนั้นต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และมาตรา ๑๘ บัญญัติว่า การจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมนั้น ให้นายทะเบียนรับจดต่อเมื่อสามีและภริยาร้องขอ และได้นำหนังสือตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๕๑๔ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาแสดงต่อนายทะเบียนด้วย จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า แม้โจทก์กับจำเลยจะจดทะเบียนสมรสกันในต่างประเทศตามแบบกฎหมายของประเทศอังกฤษก็ตาม หากทั้งสองฝ่ายประสงค์จะจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ก็สามารถจดทะเบียนหย่าในประเทศไทยได้ตามขั้นตอนของบทกฎหมายดังกล่าว คือ ในเบื้องต้นโจทก์หรือจำเลยต้องร้องขอให้นายทะเบียนในประเทศไทยบันทึกข้อความลงในทะเบียนว่า โจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกัน ณ สำนักงานทะเบียนเขตเชลซีประเทศอังกฤษ ตามแบบกฎหมายของประเทศอังกฤษแล้ว พร้อมกับยื่นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการจดทะเบียนสมรส ขั้นตอนต่อไปโจทก์และจำเลยก็ร้องขอให้นายทะเบียนในประเทศไทยจดทะเบียนหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายตามหนังสือหย่า ทั้งนี้ตามบทบัญญัติมาตรา ๑๗ และ๑๘ ดังกล่าว ดังนี้ การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยก็สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๕ สามารถใช้ยันบุคคลภายนอกทั่วไปได้ การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยในกรณีนี้จึงสามารถปฏิบัติตามมาตรา ๑๕๑๕ ดังกล่าวได้ ที่จำเลยฎีกาว่ากรณีนี้เมื่อโจทก์กับจำเลยทำหนังสือหย่ากันเองก็สมบูรณ์แล้วไม่จำต้องให้ศาลพิพากษาให้หย่าขาดจากกันอีกโดยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๑๐/๒๔๙๖ มาด้วยนั้น เห็นว่า การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยตามหนังสือหย่านั้น ย่อมเป็นอันสมบูรณ์ตามกฎหมายใช้บังคับกันได้เฉพาะระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น แต่จะอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนหย่าแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๕ เมื่อจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่า โจทก์จึงจำเป็นต้องฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันเพื่อโจทก์จะได้ดำเนินการให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวต่อไปเพื่อให้การหย่านั้นสมบูรณ์ สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมานั้นศาลฎีกาได้ตรวจดูแล้ว ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวมีว่าโจทก์และจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนสมรสกันณ ต่างประเทศโดยมิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานทูตหรือกงสุลไทย ต่อมาได้ทำหนังสือหย่ากันโดยความยินยอมทั้งสองฝ่ายในประเทศไทย ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการหย่านั้นสมบูรณ์ ถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ หย่าขาดจากกันนับแต่นั้น จำเลยที่ ๑ ทำการสมรสกับจำเลยที่ ๒ ได้ ไม่ถือว่าขณะจำเลยที่ ๑ สมรสกับจำเลยที่ ๒ นั้นจำเลยที่ ๑ ยังเป็นคู่สมรสกับโจทก์ โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะไม่ได้ คดีดังกล่าวไม่มีประเด็นว่าโจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาหย่ากับจำเลยที่ ๑ ตามหนังสือหย่าที่ทำกันไว้ได้หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า คำพิพากษาของศาลไทยที่ให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าไม่มีสภาพบังคับ กล่าวคือ ไม่อาจบังคับให้นายทะเบียน ณสำนักงานทะเบียนเขตเชลซี ประเทศอังกฤษ ปฏิบัติตาม เพราะจะเป็นการขยายเขตอำนาจศาลไทยออกไปนอกอาณาเขตประเทศไทย และไม่สามารถบังคับนายทะเบียนเขตปทุมวันจดทะเบียนหย่าให้เพราะนายทะเบียนเขตปทุมวันไม่มีเอกสารเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสของโจทก์กับจำเลยนั้นพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๑๖ บัญญัติว่า เมื่อศาลได้พิพากษาให้เพิกถอนการสมรสหรือให้หย่ากันแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียจะขอให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนก็ได้ แต่ต้องยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองว่าถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่ากรณีศาลพิพากษาให้หย่ากันนั้นจะไม่มีการจดทะเบียนการหย่า เพียงแต่ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้นายทะเบียนบันทึกไว้ในทะเบียนว่าศาลพิพากษาให้หย่าแล้วก็มีผลใช้ได้แล้ว คดีนี้เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่ากันแล้ว โจทก์ก็สามารถดำเนินการตามบทบัญญัติ มาตรา ๑๖ ดังกล่าวได้กล่าวคือ โจทก์ต้องขอให้นายทะเบียนบันทึกเสียก่อนว่า โจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันในประเทศอังกฤษและตามแบบกฎหมายของประเทศอังกฤษพร้อมคำแปลภาษาไทย ตามมาตรา ๑๗ดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปโจทก์ก็นำคำพิพากษาให้หย่ากันอันถึงที่สุดที่รับรองว่าถูกต้องแล้วยื่นต่อนายทะเบียนตามมาตรา ๑๖ เพื่อให้บันทึกว่าศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่ากันแล้ว การหย่าโดยความยินยอมของโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๔ ก็จะมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา ๑๕๑๕ แต่ศาลมิได้บังคับให้นายทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียน เขตเชลซีประเทศอังกฤษ ทำการจดทะเบียนหย่าให้แก่โจทก์กับจำเลยแต่ประการใด จึงมิใช่การขยายเขตอำนาจศาลไทยออกไปนอกราชอาณาจักร จำเลยฎีกาว่า เหตุฟ้องหย่ามีเพียง ๑๐ ประการ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๖ เท่านั้น การที่จำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ตามหนังสือหย่า ไม่ใช่เหตุที่โจทก์จะฟ้องหย่าได้นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์กับจำเลยได้ทำหนังสือหย่ากันเองถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๔ แล้ว เท่ากับทั้งสองฝ่ายตกลงยอมไปร้องขอต่อนายทะเบียนให้จดทะเบียนหย่าตาม มาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวแล้ว จำเลยจะปฏิเสธไม่ยอมไปร้องขอให้นายทะเบียนจดทะเบียนหย่าโดยไม่มีเหตุอันสมควรไม่ได้ เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนหย่าแต่ไม่ยอมปฏิบัติตามนั้น จึงเท่ากับจำเลยโต้เแย้งสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามหนังสือหย่าฉบับดังกล่าว เป็นกรณีโจทก์จำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ เพราะกรณีนี้เป็นการฟ้องเพื่อให้การหย่าโดยความยินยอมมีผลสมบูรณ์ ตามมาตรา ๑๕๑๕
พิพากษายืน.