คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5886/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการตำรวจ แม้ขณะเกิดเหตุถูกสั่งพักราชการ แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังมีฐานะเป็นข้าราชการอยู่มีหน้าที่ต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างแก่ประชาชน จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ที่ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น แต่โทษจำคุกอย่างสูงที่สุดต้องไม่เกินห้าสิบปี ตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 12

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106, 106 ทวิ, 116 พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 7, 10, 30, 31 ป.อ. มาตรา 83 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพว่ามีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 120 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อขาย แต่ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 3 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นกรรมเดียว ลงโทษฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (เมทแอมเฟตามีน) เกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ในครอบครองเพื่อขายและขาย จำคุกจำเลยที่ 1, ที่ 3 ถึงที่ 6 คนละ 20 ปี สำหรับจำเลยที่ 2 วางโทษตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 ประกอบมาตรา 12 ให้จำคุก 50 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายหลายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้จำคุก 13 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2538 เจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 2 กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กรมตำรวจ ภายใต้การนำของพันตำรวจเอกพิภพ ได้จับกุมจำเลยทั้งหก โดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 40,120 เม็ด ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเพื่อขายและร่วมกันขายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 40,000 เม็ด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ถูกสั่งพักราชการ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้ สำหรับความผิดจึงไม่ถูกต้อง นั้น เห็นว่า ความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ปรากฏตามหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัตินี้ว่า เพื่อให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจึงจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวนั้น โดยเฉพาะมาตราส่วนโทษสำหรับผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นการเพิ่มในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลตามมาตรา 10 เห็นได้ว่าเป็นมาตรการที่จะกำราบปราบปรามผู้กระทำผิดที่มีหน้าที่ต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นในสังคม จากความมุ่งหมายดังกล่าว ในเมื่อคำนึงว่า แม้จำเลยที่ 2 จะอยู่ในระหว่างพักราชการ แต่จำเลยที่ 2 ก็ยังมีฐานะเป็นข้าราชการอยู่ มีหน้าที่ต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างแก่ประชาชน จำเลยที่ 2 จึงยังเป็นบุคคลตามมาตรา 10 ที่ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดตามกฎหมายแต่โทษจำคุกอย่างสูงที่สุดต้องไม่เกินห้าสิบปีชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share