คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5880/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษ อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา มารดาผู้เสียหายทราบว่าจำเลยชอบพอรักใคร่กับผู้เสียหาย การที่มารดาผู้เสียหายยินยอมและอนุญาตให้จำเลยพาผู้เสียหายออกจากบ้านไปรับประทานอาหารหรือเที่ยวชมภาพยนตร์ เห็นได้ว่ามารดาผู้เสียหายต้องการให้จำเลยและผู้เสียหายได้มีโอกาสอยู่ด้วยกัน และทำความรู้จักคุ้นเคยกัน เพื่อศึกษานิสัยใจคอซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ของการอยู่กินเป็นสามีภริยากันในวันข้างหน้า และทุกครั้งจำเลยก็จะพาผู้เสียหายกลับมาส่งที่บ้าน แม้บางครั้งจะกลับล่าช้าและดึกไปบ้าง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังยอมรับในอำนาจการปกครองบิดามารดาผู้เสียหาย การที่จำเลยได้ล่วงเกินทางเพศแก่ผู้เสียหายด้วยการกอดจูบ รวมทั้งกระทำชำเราผู้เสียหายในวันเกิดเหตุแต่ละครั้ง ก็เป็นไปตามโอกาสและตามวิสัยคนรักใคร่ชอบพอกัน ซึ่งจำเลยต้องรับผิดทางอาญาในการกระทำของตนในแต่ละครั้งอยู่แล้ว การกระทำของจำเลยยังไม่พอถือได้ว่าจำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจาร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ , ๒๗๗ , ๒๗๙ , ๓๑๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคแรก , ๓๑๗ วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ ๑๘ ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ลงโทษจำคุกกระทงละ ๒ ปี รวม ๒ กระทง จำคุก ๔ ปี ฐานพรากเด็กหญิงอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเพื่อการอนาจาร ลงโทษจำคุกกระทงละ ๒ ปี ๖ เดือน รวม ๔ กระทง จำคุก ๑๐ ปี รวมทุกกระทงให้ลงโทษจำคุก ๑๕ ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าขณะเกิดเหตุ ผู้เสียหายอายุ ๑๔ ปีเศษ อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา จำเลยเป็นคนหมู่บ้านเดียวกับผู้เสียหาย จำเลยกับผู้เสียหายรักใคร่ชอบพอกันมาก่อน วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๖ จำเลยมารับผู้เสียหายออกจากบ้านไปรับประทานอาหาร หลังจากรับประทานอาหารแล้ว จำเลยพาผู้เสียหายไปที่เล้าไก่ของมารดาจำเลยและกระทำชำเราผู้เสียหาย ๑ ครั้ง วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๖ จำเลยมารับผู้เสียหายออกจากบ้านไปรับประทานอาหาร หลังจากนั้นก็ขับรถพาผู้เสียหายไปเที่ยวเล่นและกอดจูบผู้เสียหาย วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๖ จำเลยมารับผู้เสียหายออกจากบ้านไปรับประทานอาหาร หลังจากนั้นจำเลยพาผู้เสียหายไปที่เล้าไก่ของมารดาจำเลยและกระทำชำเราผู้เสียหาย ๑ ครั้ง และวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๖ จำเลยมารับผู้เสียหายออกจากบ้าน ขับรถพาผู้เสียหายไปเที่ยวและกอดจูบผู้เสียหาย การพาผู้เสียหายออกจากบ้านแต่ละครั้ง น. มารดาผู้เสียหายรับรู้และอนุญาตแล้วทุกครั้ง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า การกระทำของจำเลยในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๖ วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๖ วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๖ และวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๓๖ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษามาหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปทุกครั้ง จำเลยได้รับอนุญาตหรือได้รับความยินยอมจากมารดาผู้เสียหายแล้ว จำเลยย่อมไม่มีความผิดในข้อหานี้นั้น เห็นว่า จำเลยกับผู้เสียหายรักใคร่ชอบพอกันอย่างชู้สาว น. มารดาผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อปี ๒๕๓๖ จำเลยขับรถมาส่งน้ำที่บ้านและรู้จักผู้เสียหายโดยมาจีบผู้เสียหาย แสดงว่า น. ก็ทราบว่าจำเลยมาชอบพอรักใคร่กับผู้เสียหาย การที่ น. ยินยอมและอนุญาตให้จำเลยพาผู้เสียหายออกจากบ้านตามวันเวลาที่เกิดเหตุแต่ละครั้ง โดยอนุญาตให้ไปรับประทานอาหารกันบ้าง ไปเที่ยวชมภาพยนตร์กันบ้าง เป็นที่เห็นได้ว่า น. ต้องการให้จำเลยและผู้เสียหายได้มีโอกาสอยู่ด้วยกัน และทำความรู้จักคุ้นเคยกัน เพื่อได้ศึกษานิสัยใจคอซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ของการอยู่กินเป็นสามีภริยากันในวันข้างหน้า และทุกครั้งจำเลยก็จะพาผู้เสียหายกลับมาส่งที่บ้าน แม้บางครั้งจะกลับล่าช้าและดึกไปบ้าง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังยอมรับในอำนาจการปกครองของบิดามารดาผู้เสียหายอยู่ การที่จำเลยได้ล่วงเกินทางเพศแก่ผู้เสียหายด้วยการกอดจูบ รวมทั้งกระทำชำเราผู้เสียหายในวันเกิดเหตุแต่ละครั้ง ก็เป็นไปตามโอกาสและตามวิสัยคนรักใคร่ชอบพอกัน ซึ่งจำเลยต้องรับผิดทางอาญาในการกระทำของตนในแต่ละครั้งอยู่แล้ว หากการกระทำนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมาย การกระทำของจำเลยยังไม่พอถือได้ว่าจำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจาร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม รวม ๔ กระทง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓.

Share