แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท ที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ชำระไป เป็นจำนวนเงินที่บริษัททั้งสองพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตระหว่างบริษัททั้งสองกับโจทก์ โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แม้ภัยที่โจทก์ประสบเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 บริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยหาอาจรับช่วงสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่ เพราะตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยแล้วก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับไปไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,119,942 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,972,417 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 858,967 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 13 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 12 มิถุนายน 2540) ต้องไม่เกิน 147,525 บาท กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 192,582 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 13 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 9 ท – 1874 กรุงเทพมหานคร คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 1 นำสินค้ากระเบื้องไปเสนอขายแก่ลูกค้าในกิจการของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์คันดังกล่าวไปเก็บไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 2 เหตุรถเฉี่ยวชนกันเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 เมื่อเวลาประมาณ 23 นาฬิกา ขณะจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุกลับบ้าน เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุอยู่นอกเวลาทำงานแต่ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องปฏิบัติการนำรถไปเก็บไว้ที่บ้านเพื่อให้เป็นไปตามที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด แล้ว โจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในส่วนค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อีกหรือไม่ เห็นว่า เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท ที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ชำระไปเป็นจำนวนเงินที่บริษัททั้งสองพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตระหว่างบริษัททั้งสองกับโจทก์ โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 แม้ภัยที่โจทก์ประสบเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 บริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยหาอาจรับช่วงสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่ เพราะตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 ดังนั้น แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยแล้วก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับไปไม่ ที่ศาลอุทธรณ์คิดหักค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท ออกจากค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แก่โจทก์คงเหลือ 192,582 บาท ด้วยเหตุผลว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 อาจถูกบริษัททั้งสองฟ้องไล่เบี้ย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 858,967 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 13 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 147,525 บาท ตามที่โจทก์ขอ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์