แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ ซ. และครอบครัวเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นเพราะกรมประชาสงเคราะห์ จัดสรรที่ดินของรัฐให้ราษฎรเข้ามาทำกิน แต่ ซ. จะได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินนั้น จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่ พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11, 22 และ 26 กำหนดไว้อีกหลายประการ ทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏว่า ซ. ได้สมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองโพนพิสัยและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้วหรือไม่ อีกทั้ง ซ. กับ จ. ไม่ได้ยื่นคำร้องขอออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) ไว้ก่อน เจ้าหน้าที่ของนิคมสร้างตนเองโพนพิสัยจึงไม่ได้มาตรวจสอบว่าเข้าทำประโยชน์อยู่จริงหรือไม่ แม้โจทก์ทั้งสองจะอ้างใบเสร็จการเสียภาษีบำรุงท้องที่ของ ซ. กับ จ. เป็นพยานก็ไม่ใช่หลักฐานที่ยืนยันว่าผู้ชำระเงินได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอย่างแท้จริง เมื่อกรมประชาสงเคราะห์ยังไม่ได้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) ให้ ซ. หรือ จ. ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐซึ่งรัฐสามารถนำมาจัดสรรใหม่ได้ แต่นิคมสร้างตนเองโพนพิสัยให้โอกาสจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทและครอบครองทำประโยชน์อยู่ในเวลานั้นเพียงรายเดียว อีกทั้งมีคุณสมบัติครบถ้วนสมัครเข้าเป็นสมาชิกก่อนรายอื่น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 สมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองโพนพิสัยและยังครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ก็เพื่อให้รัฐออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) ให้ตนเองในฐานะหัวหน้าครอบครัว ไม่ใช่สวมสิทธิการทำกินของบิดามารดาแต่อย่างใด เมื่อกรมประชาสงเคราะห์ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) เลขที่ 836 ให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธินำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 3493 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดหนองคาย (บึงกาฬ) เป็นของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ทรัพย์มรดกตกทอดของ ซ. และ จ. จำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินจึงขอแบ่งแยกและโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3493, 8999, 9000, 9001, 9002, 9003, 9004, 9005 และ 9006 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ถึงที่ 5 และดำเนินการเพิกถอนคำขอแบ่งแยกที่ดิน พร้อมให้รวมที่ดินที่แบ่งแยกทุกแปลงให้กลับเป็นที่ดินแปลงเดียวตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3493 เดิม ให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเข้าเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3493 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ คนละ 1 ใน 6 ส่วน หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และหากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองคนละ 1 ใน 6 ส่วน ได้ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินค่าที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 300,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าไปดำเนินการเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ถึงที่ 5 ของโฉนดเลขที่ 3493, 8999, 9000, 9001, 9002, 9003, 9004, 9005 และ 9006 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ และเพิกถอนคำขอแบ่งแยกที่ดินและให้รวมที่ดินที่แบ่งแยกทุกแปลงให้กลับเป็นที่ดินแปลงเดียวตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3493 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ ให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเข้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 3493 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ คนละ 1 ใน 6 ส่วน หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 และที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายซุยกับนางจันทร์ โดยมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 6 คน คือ นางมลิซ้อน นายวิโรจน์ จำเลยที่ 1 นางปราณี โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับ สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรนางมลิซ้อน ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นบุตรนางปราณี จำเลยที่ 5 เป็นบุตรของนายวิโรจน์ เดิมที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3493 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดหนองคาย (บึงกาฬ) เนื้อที่ 26 ไร่ 81 ตารางวา เป็นที่ดินที่นายซุยกับนางจันทร์ได้รับจัดสรรให้เข้ามาทำกินตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 นายซุยกับนางจันทร์เข้าครอบครองและเสียภาษีบำรุงท้องที่ ต่อมาปี 2516 นายซุยถึงแก่ความตาย จากนั้นนางจันทร์กับจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองและเสียภาษีบำรุงท้องที่ เมื่อปี 2521 นางจันทร์ถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยที่ 1 สมัครเป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองโพนพิสัยและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา กรมประชาสงเคราะห์ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) เลขที่ 836 แปลงที่ 10 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดหนองคาย ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาปี 2541 จำเลยที่ 1 นำหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) แปลงดังกล่าวไปขอออกโฉนดเป็นโฉนดเลขที่ 3493 ปี 2555 จำเลยที่ 1 ขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3493 ออกจากกันอีก 8 แปลง เป็นโฉนดเลขที่ 8999 ถึง 9006 ตามลำดับ จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 8999 ให้แก่จำเลยที่ 2 โฉนดเลขที่ 3493 (แปลงคง) ให้แก่จำเลยที่ 3 โฉนดเลขที่ 9000, 9001 และ 9003 ถึง 9005 ให้แก่จำเลยที่ 4 และโฉนดเลขที่ 9002 และ 9006 ให้แก่จำเลยที่ 5
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองเพียงประการเดียวว่า ที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 3493 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดหนองคาย (บึงกาฬ) เป็นทรัพย์มรดกของนายซุยกับนางจันทร์หรือไม่ เห็นว่า การที่นายซุยและครอบครัวเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นเพราะกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย จัดสรรที่ดินของรัฐให้ราษฎรเข้ามาทำกิน แต่นายซุยซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินนั้นต่อไปได้ นายซุยจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 กำหนดไว้อีกหลายประการกล่าวคือ มาตรา 22 กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเอง มาตรา 26 กำหนดว่า หลังจากผู้ปกครองนิคมได้ชี้เขตที่ดินให้สมาชิกเข้าทำประโยชน์แล้ว อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์จะออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ซึ่งสมาชิกนิคมต้องจัดที่ดินให้เกิดประโยชน์ (การเกษตร) ให้แล้วเสร็จภายในห้าปี นับแต่วันที่อพยพครอบครัวเข้าอยู่ประจำในที่ดิน โดยมีเงื่อนไขว่าภายในปีแรกต้องทำประโยชน์ให้ได้อย่างน้อยหนึ่งในสิบส่วนของที่ดินที่ได้รับมอบ ถ้าทำไม่ได้ให้สมาชิกนิคมนั้นขาดสิทธิเข้าทำประโยชน์และถ้าภายในสี่ปีต่อมายังทำประโยชน์ไม่ได้เต็มเนื้อที่ ก็ให้ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์เฉพาะส่วนที่ได้ทำประโยชน์เท่านั้น นอกจากนี้ในการขอออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ยังวางหลักเกณฑ์ไว้ในมาตรา 11 ว่า นอกจากสมาชิกนิคมได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว สมาชิกนิคมต้องเป็นสมาชิกเป็นเวลาเกินกว่าห้าปี ทั้งได้ชำระเงินช่วยทุนที่รัฐบาลได้ลงไปและชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการเรียบร้อยแล้ว แต่ทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองไม่ปรากฏว่า นายซุยได้สมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองโพนพิสัยและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้วหรือไม่ อีกทั้งนายซุยกับนางจันทร์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) ไว้ก่อน เจ้าหน้าที่ของนิคมสร้างตนเองโพนพิสัยจึงไม่ได้มาตรวจสอบว่า นายซุยหรือนางจันทร์เข้าครอบครองทำประโยชน์ (การเกษตร) อยู่จริงหรือไม่ เป็นเนื้อที่เท่าใด แม้โจทก์ทั้งสองจะอ้างใบเสร็จการเสียภาษีบำรุงท้องที่ของนายซุยกับนางจันทร์เป็นพยานก็ไม่ใช่หลักฐานที่ยืนยันว่า ผู้ชำระเงินได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอย่างแท้จริง เมื่อกรมประชาสงเคราะห์ยังไม่ได้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) ให้นายซุยหรือนางจันทร์เช่นนี้ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นที่ดินของรัฐซึ่งรัฐสามารถนำมาจัดสรรใหม่ได้ แต่นิคมสร้างตนเองโพนพิสัยให้โอกาสจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทและครอบครองทำประโยชน์อยู่ในเวลานั้นเพียงรายเดียว อีกทั้งมีคุณสมบัติครบถ้วนสมัครเข้าเป็นสมาชิกก่อนรายอื่น จำเลยที่ 1 ก็เบิกความต่อสู้ว่า พี่น้องคนอื่น ๆ ย้ายไปอยู่ที่อื่นหรือขาดคุณสมบัติการเข้าเป็นสมาชิก ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 สมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองโพนพิสัยและยังครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาก็เพื่อให้รัฐออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) ให้ตนเองในฐานะหัวหน้าครอบครัว ไม่ใช่สวมสิทธิการทำกินของบิดามารดาแต่อย่างใด เมื่อกรมประชาสงเคราะห์ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) เลขที่ 836 ให้จำเลยที่ 1 แสดงว่า กรมประชาสงเคราะห์ทำการตรวจสอบแล้วว่า จำเลยที่ 1 เข้าทำประโยชน์และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 กำหนดไว้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธินำหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค. 3) เลขที่ 836 ไปขอออกโฉนดตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ข้อเท็จจริงฟังว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3493 ตำบลปากคาด อำเภอปากคาด จังหวัดหนองคาย (บึงกาฬ) เป็นของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ทรัพย์มรดกตกทอดของนายซุยและนางจันทร์ ดังนั้น จำเลยที่ 1เจ้าของที่ดินจึงขอแบ่งแยกและโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ