คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5510/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 78 บัญญัติว่า เมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง หรือกรณีเด็กหรือเยาวชนปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนรีบดำเนินการสอบสวนและส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็น ไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวให้ทันภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุม หรือปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนแล้วแต่กรณี แต่หากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อศาลให้ทันภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในวรรคสองและวรรคสาม บทบัญญัตินี้มีเจตนารมณ์ที่ต้องการเร่งรัดให้มีการสอบสวนและฟ้องเด็กหรือเยาวชน เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนให้ได้รับการพิจารณาคดีโดยเร็ว นอกจากนั้น พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคสี่ บัญญัติว่า ในระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องหายาเสพติดให้พนักงานสอบสวนดำเนินกระบวนการสอบสวนคดีต่อไป เมื่อสอบสวนเสร็จให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการ โดยไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาไปด้วย แม้ตามมาตรา 19 วรรคท้าย บัญญัติว่า ในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัว ตามพระราชบัญญัตินี้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องตามดำเนินการฝากขังหรือขอผัดฟ้องตามกฎหมายก็ตาม แต่การที่ไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือผัดฟ้องดังกล่าวย่อมหมายถึงว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอฝากขังหรือผัดฟ้อง เฉพาะช่วงระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดโดยไม่ต้องนำระยะเวลาระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมารวมเข้ากับระยะเวลาที่ต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องหรือฝากขังเท่านั้น
คดีนี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มีคำวินิจฉัยและมีคำสั่งให้ส่งคดีคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป และได้แจ้งคำวินิจฉัยมายังสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2555 ซึ่งพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบสำนวน มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนติดตามตัวจำเลยมาส่งพนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล แต่พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยมาส่งพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 และพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยในวันดังกล่าว เมื่อผู้ต้องหาไม่ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เนื่องจากการฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจและให้ส่งคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไปพนักงานอัยการจึงต้องยื่นฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าวต่อศาลให้ทันภายในกำหนด 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ซึ่งหากเกิดความจำเป็นที่ไม่สามารถฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าวก็ต้องขอผัดฟ้องตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553 มาตรา 78 เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด จึงต้องห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553 มาตรา 80

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
วันนัดพิจารณานัดแรก ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสุราษฎร์ธานีเกี่ยวกับจำเลย โจทก์แถลงว่าในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 คณะอนุกรรมการดังกล่าวมีคำวินิจฉัยและมีคำสั่งให้ส่งคดีคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป และแจ้งคำวินิจฉัยมายังสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2555 หลังจากนั้นพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนติดตามนำตัวจำเลยมาส่งเพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาล พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยมาส่งยังพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีในวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 และมีการยื่นฟ้องจำเลยในวันดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 19 วรรคห้า บัญญัติไว้ว่า ในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือขอผัดฟ้องตามกฎหมาย ดังนั้นเมื่อผู้ต้องหาไม่ถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วเนื่องจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเห็นว่าผู้ต้องหาซึ่งเข้ารับการฟื้นฟูมีผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจและให้ส่งคดีคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป พนักงานอัยการจึงต้องยื่นฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าวให้ทันภายในกำหนด 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าว ซึ่งหากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องคดีต่อศาลนี้ได้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าวก็จะต้องขอผัดฟ้องตามกฎหมายต่อไปตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่าคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด จึงต้องห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 80 จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ประทับฟ้องคดีนี้ และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่ประทับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ประทับฟ้อง
ศาลชั้นต้นประทับฟ้องและพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้รอการกำหนดโทษไว้ 1 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 จำเลยถูกจับกุมวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ต่อมาศาลอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยไปฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จำเลยมีผลการฟื้นฟูไม่น่าพอใจ คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงได้แจ้งคำวินิจฉัยมายังสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2555 หลังจากนั้นพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนติดตามนำตัวจำเลยมาส่งเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยมาส่งยังพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีในวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 และมีการยื่นฟ้องจำเลยในวันดังกล่าว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2554 มาตรา 78 บัญญัติว่า เมื่อมีการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง หรือกรณีเด็กหรือเยาวชนปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนรีบดำเนินการสอบสวน และส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวให้ทันภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกจับกุมหรือปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวน แล้วแต่กรณี แต่หากเกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องเด็กหรือเยาวชนนั้นต่อศาลให้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณีจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในวรรคสองและวรรคสาม จึงเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่ต้องการเร่งรัดให้มีการสอบสวนและฟ้องเด็กหรือเยาวชน ทั้งนี้เพื่อการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชนให้ได้รับการพิจารณาคดีโดยเร็ว นอกจากนั้นพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดพ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคสี่ บัญญัติว่า ในระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องหายาเสพติดให้พนักงานสอบสวนดำเนินกระบวนการสอบสวนคดีต่อไป เมื่อสอบสวนเสร็จให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการโดยไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาไปด้วย แม้มาตรา 19 วรรคท้าย บัญญัติว่า ในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือขอผัดฟ้องตามกฎหมายก็ตาม แต่การที่ไม่ต้องดำเนินการฝากขังหรือผัดฟ้องดังกล่าวย่อมหมายถึงว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอฝากขังหรือผัดฟ้องเฉพาะช่วงระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดโดยไม่ต้องนำระยะเวลาระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมารวมเข้ากับระยะเวลาที่ต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องหรือฝากขังเท่านั้น เมื่อคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำวินิจฉัยและมีคำสั่งให้ส่งคดีคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไปในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 และได้แจ้งคำวินิจฉัยมายังสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2555 ซึ่งพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนติดตามตัวจำเลยมาส่งพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล แต่พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยมาส่งพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 และพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยในวันดังกล่าว ดังนั้น กรณีเมื่อผู้ต้องหาไม่ถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เนื่องจากการฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจและให้ส่งคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป พนักงานอัยการจึงต้องยื่นฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าวต่อศาลให้ทันภายในกำหนด 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าว ซึ่งหากเกิดความจำเป็นที่ไม่สามารถฟ้องคดีนี้ต่อศาลได้ทันภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ต้องขอผัดฟ้องตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2554 มาตรา 78 เมื่อคดีนี้พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดจึงต้องห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดี ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 80 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาหลังจากศาลชั้นต้นประทับรับฟ้อง และคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่าเมื่อไม่ประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้วมีผลเป็นการเพิกถอนกระบวนพิจารณาและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปโดยปริยาย จึงไม่จำต้องมีคำสั่งในส่วนนี้
พิพากษากลับเป็นว่า ไม่ประทับฟ้องไว้พิจารณา

Share