คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1360/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คดีอันมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องฐานบุกรุกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ แต่คำขอท้ายฟ้องได้ขอให้ลงโทษผู้ร้องตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108, 108 ทวิ, 108 ตรี โดยมาตรา 9 เป็นบทบัญญัติห้ามบุคคลใดเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ และมาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 9 นับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ใช้บังคับในวันที่ 4 มีนาคม 2515 โดยมีบทลงโทษหนักขึ้นในกรณีที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง และมีบทลงโทษหนักขึ้นในกรณีที่ได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ ตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสาม เมื่อพิจารณาจากทางนำสืบของโจทก์ในคดีดังกล่าว ซึ่งมี ส. ผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ และ น. นายอำเภอหาดใหญ่เบิกความประกอบกับบันทึกการประชุมได้ความว่า ที่ดินเหมืองฉลุงซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นที่ดินประเภทที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งแสดงให้เห็นว่า ข้ออ้างในคำร้องของผู้ร้องที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้น ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี อีกทั้งแม้จะฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) ก็ย่อมถือเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งต้องห้ามมิให้บุคคลใดเข้าไปยึดถือครอบครองโดยไม่มีสิทธิครอบครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องเคยมีหนังสือลงวันที่ 4 มิถุนายน 2534 ถึงผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ขอผ่อนผันอยู่ในที่ดินไปจนกว่าจะเก็บพืชผลที่ลงทุนไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เสียก่อน อันเป็นการสนับสนุนให้เห็นว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิครอบครอง เมื่อผู้ร้องบุกรุกครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิครอบครองย่อมเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษผู้ร้องตามที่พิจารณาได้ความได้ เพราะการระบุในฟ้องว่าบุกรุกที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ว่าประเภทที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นเพียงรายละเอียด และเป็นเพียงบทลงโทษหนักขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ส่วนขององค์ประกอบความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพิพากษาอันถึงที่สุดนั้น ได้กำหนดโทษจำคุกและปรับแก่ผู้ร้องภายในระวางโทษตามป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีที่จะแสดงว่าผู้ร้องซึ่งต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา โจทก์ ยื่นฟ้องนายแก่น ผู้ร้อง เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1228/2536 ในความผิดฐานบุกรุกเข้าไปครอบครองที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นเดินโดยเฉพาะ เป็นเนื้อที่ 55.41 ไร่ และขัดขวางไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ให้ออกจากที่ดินดังกล่าว คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ผู้ร้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคสาม จำคุก 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ผู้ร้องและบริวารออกจากพื้นที่ตามฟ้อง
ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2539 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตามคดีหมายเลขแดงที่ ร.1/2540
ศาลชั้นต้นมีความเห็นว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบล้วนแต่มีอยู่ก่อนที่โจทก์จะฟ้องผู้ร้อง มิใช่พยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี ทั้งคดีอาญาผู้ร้องฟ้องพยานโจทก์ว่าเบิกความเท็จนั้น ก็ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน คดีของผู้ร้องจึงไม่มีเหตุจะรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้เห็นควรยกคำร้องขอและได้ส่งสำนวนการไต่สวนรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่พร้อมทั้งบันทึกความเห็นให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 9 วรรคสาม
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า ประกาศกระทรวงหาดไทย เรื่อง มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐในท้องที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2538 หนังสือจังหวัดสงขลา ฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2537 และฉบับลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 กับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ขายที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณเหมืองฉลุง ตำบลฉลุง อำเภอหากใหญ่ จังหวัดสงขลา ฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2538 และหนังสือกรมทรัพยากรธรณี ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2535 เป็นเพียงประกาศและเอกสารชี้แจ้งระหว่างหน่วยราชการด้วยกัน ซึ่งยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) พยานหลักฐานที่ผู้ร้องอ้างตามคำร้องอ้างตามคำร้องจึงไม่พอถือว่ามีพยานหลักฐานอันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า พยานโจทก์แจ้งความและเบิกความเท็จนั้น ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนแล้ว กรณีไม่มีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่จึงให้ยกคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 วรรคสอง จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาของผู้ร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยแล้วว่าพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำมาอ้างเพื่อขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ มิใช่พยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี กรณีจึงไม่มีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 วรรคสอง ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาและคำสั่งศาลฎีกาที่ผู้ร้องอ้างถึงนั้น ข้อเท็จจริงแตกต่างจากคดีนี้ให้ยกคำร้อง
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาว่าขอให้ศาลฎีกาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264
ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ครั้นวันที่ 3 สิงหาคม 2548 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่เป็นคดีนี้อีก (เป็นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีครั้งที่สองต่อจากครั้งแรกตามคดีหมายเลขแดงที่ ร.1/2540)
โจทก์ไม่ยื่นคำคัดค้าน
วันที่ 16 สิงหาคม 2548 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 และมาตรา 18 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 6 และมาตรา 247 หรือไม่ และให้รอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อโต้แย้งของผู้ร้องเป็นกรณีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 และไม่ปรากฏว่ามีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว จึงเห็นสมควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 และมาตรา 18 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 และมาตรา 247 หรือไม่ และให้รอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน
ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2550 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 และมาตรา 18 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 6 มาตรา 28 มาตรา 39 และมาตรา 40 หรือไม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยที่ 10/2550 ลงวันที่ 26 กันยายน 2550 ให้ยกคำร้อง
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 4/2550 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ไม่รับคำร้องเพิ่มเติมของผู้ร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า แม้พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเพียงข้อหารือที่กระทรวงมหาดไทยมีไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เอกสารดังกล่าวจึงถือเป็นข้อชี้แจงระหว่างหน่วยงาน นอกจากนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ฟังว่าที่ดินพิพาทเหมืองฉลุงเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าก็สืบเนื่องมาจากคู่ความในคดีดังกล่าวมิได้โต้แย้งเป็นประเด็นให้ศาลฎีกาวินิจฉัย แต่เป็นประเด็นที่คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับกัน ศาลฎีกาจึงรับฟังเป็นยุติ และศาลฎีกาในคดีดังกล่าวก็มิได้วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้โดยตรงพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำมาอ้างเพื่อขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี ประกอบกับพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 18 บัญญัติว่า “คำร้องเกี่ยวกับผู้ต้องรับโทษอาญาคนหนึ่งในคดีหนึ่งให้ยื่นได้เพียงครั้งเดียว” ดังนั้น เมื่อผู้ร้องใช้สิทธิในการยื่นคำร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2539 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งเป็นที่สุดให้ยกคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจมายื่นคำร้องเป็นคดีนี้อีกได้ คดีของผู้ร้องจึงไม่มีเหตุที่จะรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5 เห็นควรยกคำร้อง และศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งบันทึกความเห็นให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณา
วันที่ 17 เมษายน 2551 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 ขอให้ส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 และมาตรา 18 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 6 และมาตรา 247 กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 6 มาตรา 28 มาตรา 39 และมาตรา 40 หรือไม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มีเจตนารมณ์ที่จะให้ความยุติธรรมแก่บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งหากปรากฏหลักฐานขึ้นใหม่ในภายหลังว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิด ก็มีสิทธิขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ได้ ส่วนที่พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง และวรรคสองกำหนดว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่รับคำร้องหรือยกคำร้องให้เป็นที่สุด และมาตรา 18 กำหนดว่าผู้ต้องรับโทษอาญาคนหนึ่งในคดีหนึ่งให้ยื่นได้เพียงครั้งเดียว นั้น หมายความเพียงว่าคำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ไม่สามารถฎีกาต่อไปได้ และผู้ต้องรับโทษคนดังกล่าวจะยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่โดยอาศัยหลักฐานหรือเหตุที่เป็นข้ออ้างในคำร้องเดิมอีกไม่ได้เท่านั้น แต่บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ปิดกั้นผู้ต้องรับโทษที่จะยื่นคำร้องเมื่อมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ปรากฏขึ้น ซึ่งเป็นเจตนารมณ์โดยแท้ของกฎหมายที่กล่าวข้างต้น สำหรับเรื่องนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องและนำสืบว่า ที่ดินตามฟ้องที่ผู้ร้องอ้างว่าภายหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งยกคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ของผู้ร้องครั้งแรกแล้ว กรมธนารักษ์กับกรมที่ดินมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับที่ดินพิพาทเหมืองฉลุง กระทรวงมหาดไทยได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 7 ได้วินิจฉัยเมื่อเดือนสิงหาคม 2545 ว่า ที่ดินบริเวณเหมืองฉลุงเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ต่อมาในปี 2545 ปี 2546 และปี 2549 ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดสงขลา) ศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลฎีกาตามลำดับ ได้มีคำพิพากษา ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ปค.1/2540 หมายเลขแดงที่ ปค.1/2545 ของศาลชั้นต้น ระหว่าง นายชุมพล โจทก์การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ 1 กับพวก จำเลย โดยวินิจฉัยในทำนองเดียวกันว่าที่ดินพิพาทซึ่งเดิมเป็นที่ดินเหมืองฉลุง เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) ดังนี้ เมื่อที่ดินตามฟ้องที่โจทก์อ้างว่าผู้ร้องบุกรุกนั้นอยู่ในบริเวณที่ดินเหมืองฉลุง จึงต้องถือว่าเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าเช่นเดียวกัน เห็นว่า คำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ของผู้ร้องครั้งนี้ได้อ้างบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและคำพิพากษาของศาลเป็นพยานหลักฐานซึ่งเกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยยกคำร้องของผู้ร้องในครั้งแรกแล้วบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) และผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม (กรมทรัพยากรธรณีและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ซึ่งเป็นพนักงานของรัฐมาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของที่ดินเหมืองฉลุง ย่อมมีนำหนักน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัยในคดีดังกล่าวโดยฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินเหมืองฉลุงเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) เช่นกัน ซึ่งแม้ศาลฎีกาจะฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังมาและคู่ความมิได้อุทธรณ์ฎีกาโต้เถียงกันก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวก็เป็นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทเหมืองฉลุงโดยตรง คงไม่แถลงรับข้อเท็จจริงอันเป็นการสมยอมต่อโจทก์ กรณีจึงถือได้ว่าผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี มีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ ส่วนที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 ขอให้ส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 และมาตรา 18 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 6 และมาตรา 247 กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 6 มาตรา 39 และมาตรา 40 หรือไม่นั้น เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องที่กล่าวข้างต้นไม่ได้ระบุเหตุผลมาด้วยว่ากฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร แต่เมื่อพิจารณาคำร้องของผู้ร้องแล้วเป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากผู้ร้องได้อ้างเป็นเหตุในการยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในครั้งที่สองนี้ โดยอ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นที่สุด ดังนี้ คำร้องดังกล่าวจึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ถูกต้อง มิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่จำต้องส่งความเห็นของผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงมีคำสั่งให้รับคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ของผู้ร้อง และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องอ้างไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่และสำคัญแก่คดี จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าผู้ร้องไม่ได้กระทำความผิด ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้คัดค้านไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นมีความเห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินเหมืองฉลุง จึงเป็นที่ดินรกร้างวางเปล่า เมื่อพนักงานอัยการฟ้องกล่าวหาว่า ผู้ร้องกระทำความผิดฐานบุกรุกที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะโดยมิได้ขอให้ลงโทษฐานบุกรุกที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาด้วย จึงเป็นเรื่องที่พนักงานอัยการไม่ประสงค์ให้ลงโทษ จึงไม่อาจลงโทษผู้ร้องตามฟ้องได้ เห็นควรให้ยกคำพิพากษาเดิมและพิพากษาว่าผู้ร้องมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีที่จะแสดงว่าผู้ร้องซึ่งต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิดหรือไม่ เห็นว่า แม้คดีอันมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องฐานบุกรุกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ แต่คำขอท้ายฟ้องได้ขอให้ลงโทษผู้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108, 108 ทวิ, 108 ตรี โดยมาตรา 9 เป็นบทบัญญัติห้ามบุคคลใดเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ และมาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 9 นับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ใช้บังคับในวันที่ 4 มีนาคม 2515 โดยมีบทลงโทษหนักขึ้นในกรณีที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง และมีบทลงโทษหนักขึ้นในกรณีที่ได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ ตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสาม เมื่อพิจารณาจากทางนำสืบของโจทก์ในคดีดังกล่าว ซึ่งมีนายสมพรผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมภายใต้ และนายนิวัฒน์ นายอำเภอหาดใหญ่เบิกความประกอบกับบันทึกการประชุมได้ความว่า ที่ดินเหมืองฉลุงซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นดินประเภทที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งแสดงให้เห็นว่า ข้ออ้างในคำร้องของผู้ร้องที่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้น ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี อีกทั้งแม้จะฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (1) ก็ย่อมถือเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งต้องห้ามมิให้บุคคลใดเข้าไปยึดถือครอบครองโดยไม่มีสิทธิครอบครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องเคยมีหนังสือลงวันที่ 4 มิถุนายน 2534 ตามเอกสารหมาย จ.10 ถึงผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ขอผ่อนผันอยู่ในที่ดินไปจนกว่าจะเก็บพืชผลที่ลงทุนไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เสียก่อน อันเป็นการสนับสนุนให้เห็นว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิครอบครอง เมื่อผู้ร้องบุกรุกครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิครอบครองย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษผู้ร้องตามที่พิจารณาได้ความได้ เพราะการระบุในฟ้องว่าบุกรุกที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ว่าประเภทที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นเพียงรายละเอียด และเป็นเพียงบทลงโทษหนักขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ส่วนขององค์ประกอบความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพิพากษาอันถึงที่สุดนั้น ได้กำหนดโทษจำคุกและปรับแก่ผู้ร้องภายในระวางโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีที่จะแสดงว่าผู้ร้องซึ่งต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด
พิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง

Share