แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 นอกจากลูกจ้างจะมีสิทธิฟ้องร้องนายจ้างต่อศาลแรงงานตามแนวทางปกติแล้ว กฎหมายยังกำหนดแนวทางใหม่ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 ถึงมาตรา 125 โดยให้ลูกจ้างมีสิทธิร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเสียก่อน เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งตาม มาตรา 124 แล้ว หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งจึงนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อให้ศาลแรงงานพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
บทบัญญัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 มีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว กล่าวคือจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ หากลูกจ้างเลือกใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานก็เท่ากับสละสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานไปแล้วอยู่ในตัว
การที่ลูกจ้างยื่นฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างต่อศาลแรงงาน ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้างที่ค้างพร้อมดอกเบี้ย ถือว่าลูกจ้างเลือกใช้สิทธิที่จะฟ้องต่อศาลแรงงาน ลูกจ้างจึงหมดสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 แล้ว การที่ลูกจ้างได้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอีก ในขณะที่คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงาน เพื่อขอให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน ไว้แล้วและค่าจ้างในเดือนถัดมาต่อเนื่องกัน ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับค่าจ้างค้างจ่ายที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องของลูกจ้าง แม้ต่อมาลูกจ้างจะถอนฟ้องคดีไปจากศาล ก็ไม่ทำให้พนักงานตรวจแรงงานกลับมีอำนาจพิจารณาคำร้องนั้นขึ้นมาอีก คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ในฐานะนายจ้างฟ้อง การที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัยคำร้องของนายณรงค์ ซึ่งเป็นลูกจ้างและออกคำสั่งที่ ๓๕/๒๕๔๒ จึงเป็นการขัดต่อขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓ ถึง ๑๒๕ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยตามคำร้องดังกล่าว ทั้งการที่โจทก์และนายณรงค์ยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างกันอยู่ ทำให้โจทก์ไม่อาจจ่ายค่าจ้างให้แก่นายณรงค์ได้จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์จงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่นายณงค์ โดยปราศจากเหตุอันสมควร คำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ จึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน
จำเลยทั้งสองให้การและขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเรียกร้องของนายณรงค์ลูกจ้างตามคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๔๓๙๑/๒๕๔๒ กับคำร้องที่ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแตกต่างกัน ข้อเรียกร้องที่ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานส่วนใหญ่เป็นสิทธิเรียกร้องที่ เกิดขึ้นภายหลังจากนายณรงค์ยื่นฟ้องแล้ว ประกอบกับไม่มีกฎหมายใดห้ามลูกจ้างที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแล้วมิให้ยื่น คำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอีก การที่นายณรงค์ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓ พนักงานตรวจแรงงานจึงมีอำนาจพิจารณาคำร้องของนายณรงค์ โจทก์รู้อยู่แล้วว่านายณรงค์ได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละ ๓๕,๐๐๐ บาท การที่โจทก์ยกเอาการยื่นคำร้องและการฟ้องคดีต่อศาลของ นายณรงค์มาเป็นข้ออ้างว่ายังมีการโต้แย้งเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างและยังไม่มีคำพิพากษาศาลว่านายณรงค์มีสิทธิได้รับ ค่าจ้างในอัตราเดือนละเท่าใด เพื่อไม่จ่ายค่าจ้างให้นายณรงค์จึงฟังไม่ขึ้น เมื่อนายณรงค์ทางถามแล้ว โจทก์ปฏิเสธ ไม่ยอมจ่าย จึงเป็นการจงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างโดยปราศจากเหตุอันสมควร คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ที่ ๓๕/๒๕๔๒ จึงชอบแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว การที่นายณรงค์ยื่นฟ้องโจทก์ที่ศาลแรงงานกลางเป็น คดีหมายเลขดำที่ ๔๓๙๑/๒๕๔๒ แล้ว ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณานายณรงค์ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๒ ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยที่ ๒ จะมีอำนาจพิจารณาคำร้องของนายณรงค์หรือไม่นั้น เห็นว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓ บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้ และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน
” แสดงว่า เมื่อเข้ากรณีตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓ นอกจากลูกจ้างจะมีสิทธิฟ้องร้องนายจ้างต่อศาลแรงงานตามแนวทางปกติแล้วกฎหมายยังกำหนดแนวทางใหม่ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓ ถึงมาตรา ๑๒๕ โดยให้ลูกจ้างมีสิทธิร้องต่อพนักงาน ตรวจแรงงานเสียก่อน เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนและมีคำสั่งตามมาตรา ๑๒๔ แล้ว หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่งจึงจะนำคดีขึ้นต่อสู้ศาลเพื่อให้ศาลแรงงานพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติตามมาตรา ๑๒๓ ดังกล่าว มีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว กล่าวคือจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันทีเดียวทั้งสองทางไม่ได้ หากลูกจ้างเลือกใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานตามแนวทางปกติก็เท่ากับสละสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นแนวทางใหม่ไปแล้วอยู่ในตัว ดังนั้น การที่นายณรงค์ลูกจ้างยื่นฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขดำ ที่ ๔๓๙๑/๒๕๔๒ ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้างที่ค้างพร้อมดอกเบี้ย ถือว่านายณรงค์เลือกใช้สิทธิที่จะดำเนินการต่อโจทก์ด้วยการฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง จึงหมดสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๓ แล้ว เมื่อปรากฏว่าต่อมานายณรงค์ได้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอีกในขณะที่คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานเพื่อขอให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางไว้แล้วและค่าจ้างในเดือนถัดมาต่อเนื่องกัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับค่าจ้างค้างจ่ายที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง พนักงานตรวจแรงงานจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องของนายณรงค์ แม้ต่อมานายณรงค์จะได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวไปจากศาลก็ไม่ทำให้พนักงานตรวจแรงงานซึ่งไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องของนายณรงค์อยู่เดิมกลับมีอำนาจพิจารณา คำร้องนั้นขึ้นมาอีก คำสั่งของพนักงานตรวนแรงงานที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษากลับให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ ๓๕/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๒ .