แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ผู้ไถ่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากก็ต่อเมื่อได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่แล้ว ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนองและรับสินไถ่ตามคำขอบังคับของผู้ร้อง แต่เมื่อผู้ร้องยังไม่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ กรรมสิทธิ์จึงยังไม่ตกเป็นของผู้ร้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ดินพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 973,068.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 693,420.39 นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองทราบคำบังคับแล้วไม่ชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2546 โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2286 ตำบลชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เนื้อที่ 23 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวจำเลยที่ 2 มิได้เป็นเจ้าของ เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากให้แก่ผู้ร้องทั้งสองโดยปลอดจำนอง ให้จำเลยที่ 2 ได้รับค่าสินไถ่ 200,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 และคดีถึงที่สุดแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 915/2542 ของศาลชั้นต้น ผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าของ ขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยที่ดินตามโฉนดเลขที่ 2286 ตำบลชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เนื้อที่ 23 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ที่ยึดได้
โจทก์ให้การว่า โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ทั้งไม่ทราบเหตุการณ์ระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับจำเลยทั้งสอง ขอให้ยกคำร้องขอ
ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงรับข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองว่า ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจริง ผู้ร้องทั้งสองแถลงรับว่าโจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริต แล้วคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง (ที่ถูกต้องมีคำสั่งยกคำร้องขอ) ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เดิมผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2286 ตำบลชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เนื้อที่ประมาณ 23 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2529 ผู้ร้องทั้งสองได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 มีกำหนดเวลา 2 ปี เมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่ จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองกับโจทก์ ต่อมาผู้ร้องทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนอง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนอง ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย ร.1 โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 โดยสุจริต มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทหรือไม่ ผู้ร้องทั้งสองฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนองและให้จำเลยที่ 2 ได้รับค่าสินไถ่ 200,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 มีผลให้ผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิไถ่ถอนการขายฝาก และทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ขายฝากกลับคืนไปยังผู้ร้องทั้งสองตามเดิมเสมือนกับว่าไม่มีการขายฝากกันไว้เลยนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 492 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์สินอันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี” แสดงว่า ผู้ไถ่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากก็ต่อเมื่อได้ชำระสินไถ่ หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่แล้ว ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนองและรับสินไถ่ 200,000 บาท ตามคำขอบังคับของผู้ร้องทั้งสองก็ตาม แม่เมื่อผู้ร้องยังไม่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงยังไม่ตกเป็นของผู้ร้องทั้งสองตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ดินพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท ส่วนที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่า ผู้ร้องทั้งสองอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริต ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ