แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำเลย ตาม ข้อบังคับของธนาคารฯ จำเลย ฉบับ ที่ 4 ข้อ 15(4) และ ข้อ 18 ที่กำหนดว่าพนักงานต้อง ออกจากงานเมื่อเกษียณอายุคือการที่พนักงานมีอายุครบ60 ปีบริบูรณ์นั้น มิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้าง เพราะมิได้กำหนดข้อผูกพันให้จ้างกันจนกว่าพนักงานจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แต่ เป็นการกำหนดคุณสมบัติพนักงานของจำเลยเป็นการทั่วไป ดัง นั้นพนักงานผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จึงมิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน เมื่อธนาคารฯ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ธนาคารฯ จำเลยจึงต้อง จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ เงินบำเหน็จที่ธนาคารฯ จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ เป็นเงินที่มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่าง กับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ จึงถือ ไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย ข้อบังคับของธนาคารฯ จำเลย ฉบับ ที่ 17 ว่าด้วยการลา และการจ่ายเงินเดือน ระหว่างลา ข้อ 11 วรรคแรก กำหนดว่า “ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีในปีหนึ่งได้ 10 วัน โดย ไม่ถือ เป็นวันลา”และความในวรรคท้ายกำหนดว่า “การลา การอนุญาตให้ลาพักผ่อนประจำปีให้เป็นไปตาม ที่ผู้จัดการกำหนด” เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้จัดการได้ กำหนดวันให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีไว้ การที่โจทก์มิได้ใช้ สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี จึงหาตัด สิทธิโจทก์ที่จะได้ รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2490 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 16,800 บาทต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2528 จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน 100,800 บาท และมีสิทธิได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 20 วัน เป็นเงิน 11,200 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะแรก จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยเป็นจำนวน 638,400 บาท เงินค่าบำเหน็จดังกล่าวเป็นเงินจำนวนเกินกว่าค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยและค่าทำงานในวันหยุดจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 100,800 บาทและค่าทำงานในวันหยุดจำนวน 11,200 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่า ตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 4 ข้อ 15(4) และข้อ 18 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างของโจทก์จำเลย ถือได้ว่าเป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งโจทก์ทราบดีแล้วว่า เมื่อโจทก์มีอายุครบ60 ปีบริบูรณ์ก็จะต้องถูกเลิกจ้าง จึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 4 ข้อ 15(4) และข้อ 18 ที่กำหนดว่า พนักงานต้องออกจากงานเมื่อเกษียณอายุ และการเกษียณอายุคือการที่พนักงานมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์นั้น มิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้างเพราะมิได้กำหนดข้อผูกพันให้จ้างกันจนกว่าพนักงานจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แต่เป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติพนักงานของจำเลยเป็นการทั่วไปพนักงานผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์จึงมิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ข้อที่สองว่า ตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 29ระบุว่า “การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ให้ถือว่าเป็นการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน” ซึ่งโจทก์ได้รับเงินบำเหน็จไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอีก พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 29 มีหลักเกณฑ์ว่า ผู้ปฏิบัติงานจะมีสิทธิได้รับต่อเมื่อมีระยะเวลาทำงานตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป เว้นแต่การออกจากงานเพราะเหตุที่ระบุไว้ ผู้ที่ลาออกจากงานก็มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหากมีระยะเวลาทำงานถึงกำหนดและกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานถึงแก่ความตาย จำเลยก็ยังต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ทายาทผู้ปฏิบัติงานนั้นด้วย ดังนี้ เงินบำเหน็จจึงเป็นเงินที่มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างกับค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ตามเอกสารหมายเลข 4 และ 5 ท้ายคำให้การซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเลือกหยุดพักผ่อนประจำปีในวันใดก็ได้ตามแต่โจทก์จะเลือกแต่โจทก์ไม่ใช้สิทธิเอง และจำเลยก็ไม่เคยมีคำสั่งให้โจทก์มาทำงานในวันหยุด การที่โจทก์มาทำงานโดยไม่หยุดพักผ่อนประจำปีเป็นความสมัครใจของโจทก์เอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่17 ว่าด้วยการลาและการจ่ายเงินเดือนระหว่างลา ข้อ 11 วรรคแรกกำหนดว่า “ผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปีในปีหนึ่งได้10 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา” และความในวรรคท้ายกำหนดว่า “การลาการอนุญาตให้ลาพักผ่อนประจำปีให้เป็นไปตามที่ผู้จัดการกำหนด”ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้จัดการได้กำหนดวันให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีไว้ การที่โจทก์มิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีจึงหาตัดสิทธิโจทก์ที่จะได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานไม่ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.