คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5872/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการซื้อและขายที่ดินรวม 5 โฉนด หลังจากทำการซื้อขายที่ดินดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับและผ่อนชำระภาษี โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญารับสภาพหนี้และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ ต่อมาโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายมอบให้แก่โจทก์ในงวดที่ 8 ถึง 12 ไม่ได้โจทก์จึงแจ้งจำเลยทั้งสามให้นำเงินมาชำระ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยตลอดระยะเวลาที่จำเลยทั้งสามติดต่อโจทก์ ไม่ว่าในขณะที่จำเลยที่ 1ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือในชั้นที่เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบภาษีของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2และที่ 3 ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ซื้อที่ดินแทนจำเลยที่ 3แล้วขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 2และที่ 3 ก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเงินเพิ่มเบี้ยปรับและภาษีส่วนท้องถิ่นแก่โจทก์
เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ระบุยอมรับชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 เต็มจำนวน ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงรับผิดต่อโจทก์ด้วยโดยจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ แต่ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำกับโจทก์มิได้ระบุให้จำเลยที่ 3รับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยที่ 3รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินรวม 5 แปลง ในราคา 50,400,000 บาท ต่อมาวันที่ 15มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายที่ดินดังกล่าวและยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับและคำร้องขอผ่อนชำระภาษีอากร โดยขอผ่อนชำระภาษีอากรเป็น 12 งวด ชำระด้วยเช็คลงวันที่ล่วงหน้า 12 ฉบับ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่ายและได้ยื่นหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 2 ว่าจะชำระหนี้ค่าภาษีดังกล่าวให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานของโจทก์ไม่อนุมัติแต่จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระภาษีอากรเรื่อยมา ต่อมาจำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีอากรที่คงค้างชำระเป็น 6 งวด ชำระด้วยเช็คของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน เจ้าพนักงานของโจทก์อนุมัติตามที่ร้องขอ ในการชำระ 2 งวดสุดท้าย โจทก์ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คได้รวม 371,655 บาท เจ้าพนักงานของโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 นำเงินภาษีอากรดังกล่าวมาชำระและลดเบี้ยปรับลงคงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 20 ของเบี้ยปรับที่ต้องชำระ จำเลยที่ 1ได้นำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ 17,622 บาท และโจทก์นำเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่อายัดไว้จำนวน 6,144.26 บาทมาหักชำระเป็นเบี้ยปรับและภาษีรายได้ส่วนท้องถิ่นคงเหลือภาษีที่ค้างชำระ 659,135.74 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มและภาษีรายได้ส่วนท้องถิ่นคิดถึงวันฟ้องรวม 1,103,637.82 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมกับเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ 235,980 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและภาษีรายได้ส่วนท้องถิ่นในอัตราร้อยละ 10ของเงินเพิ่มที่คำนวณได้ให้แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการ และเป็นตัวแทนเชิดจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการซื้อขายที่ดิน ไม่มีรายได้จากการขายที่ดินผู้มีเงินได้ที่แท้จริงคือจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 1 ถูกเชิดให้เป็นตัวแทนทำสัญญาซื้อขายในวันเดียวกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ออกเช็คชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันในฐานะส่วนตัวขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ไม่มีผลตามกฎหมาย ไม่อาจนำมาฟ้องร้องได้ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 ให้การและนำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการซื้อและขายที่ดินดังกล่าว แต่หลังจากทำการซื้อขายที่ดินดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ โดยยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับและผ่อนชำระภาษี โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญารับสภาพหนี้ และจำเลยที่ 3เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ ต่อมาโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คงวดที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายมอบให้แก่โจทก์ในงวดที่ 8 ถึง 12 ไม่ได้เจ้าพนักงานของโจทก์จึงแจ้งจำเลยทั้งสามให้นำเงินมาชำระแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย แสดงว่าตลอดระยะเวลาที่จำเลยทั้งสามติดต่อโจทก์ ไม่ว่าในขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันหรือในชั้นที่เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจสอบภาษีของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 166และ 167 กับ 176 ถึง 185 จำเลยที่ 1 มิได้แจ้งให้โจทก์ทราบเลยว่าจำเลยที่ 1 กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะที่ได้รู้ข้อเท็จจริงมาก่อนว่าจำเลยที่ 1ทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ซื้อที่ดินแทนจำเลยที่ 3 แล้วขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ตามจำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีตามฟ้องแก่โจทก์ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเงินเพิ่มเบี้ยปรับและภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 1,103,637.82 บาท แก่โจทก์แต่ที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้น ได้ความตามคำเบิกความของพยานโจทก์ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ จำเลยที่ 2ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ระบุยอมรับชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 เต็มจำนวน ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1ยังชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงรับผิดต่อโจทก์ด้วย โดยจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์แต่สำหรับจำเลยที่ 3 ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำกับโจทก์มิได้ระบุให้จำเลยที่ 3 รับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1กรณีจึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยที่ 3 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินภาษีเงินเพิ่ม เบี้ยปรับ และภาษีส่วนท้องถิ่นจำนวน 1,103,637.82บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนในต้นเงินภาษี 235,980 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำนวนเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวน235,980 บาท กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าภาษีส่วนท้องถิ่นในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์

Share