คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 587/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องว่าเหตุเกิดเวลากลางคืน (ก่อนเที่ยง) นั้นต้องหมายความถึงเวลากลางคืน เวลาตั้งแต่ 1 ถึง 6 นาฬิกาของวันนั้นและคำว่าก่อนเที่ยงนั้นหมายถึงก่อนเที่ยงวันเท่านั้น จะแปลว่าก่อนเที่ยงคืนไม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๘๘ เวลากลางคืน (ก่อนเที่ยง) จำเลยบังอาจใช้มีดแทงนายทีถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษ
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทำร้ายนายที เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๘๘ เวลา ๒.๐๐ นาฬิกา
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องโจทก์ที่วงเล็บถึงเวลาเกิดเหตุว่า “ก่อนเที่ยง” นั้น ย่อมหมายความถึงก่อนเที่ยงคืนคือหลังเวลา ๑๘.๐๐,๑๙.๐๐ นาฬิกาไปแล้ว ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในทางพิจารณาต่างกับฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์
คงมีปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกาเพียงว่า คำที่โจทก์วงเล็บคำว่า “ก่อนเที่ยง” ไว้ข้างหลังคำว่ากลางคืนนั้น จะหมายถึงก่อนเที่ยงวันหรือก่อนเที่ยงคืน ศาลฎีกาเห็นว่า คำที่ใช้ว่าก่อนเที่ยงหรือหลังเที่ยงนี้ เกิดขึ้นตามประกาศนับเวลาในราชการลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๔๖๐ คือเปลี่ยนวันใหม่เมื่อพ้นเที่ยงคืนโดยนับ ๑ ถึง ๑๒ นาฬิกาเป็นก่อนเที่ยง ภายหลังนั้นก็นับ ๑ ไปถึง ๑๒ ใหม่เรียกว่า หลังเที่ยง ต่อมาเปลี่ยนเรียก ๑ นาฬิกาหลังเที่ยงเป็น ๑๓ นาฬิกาเรื่อยไปถึง ๒๔ นาฬิกา คำว่าก่อนเที่ยงหรือหลังเที่ยงก็เลิกใช้ แต่คงเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่า คำว่า “ก่อนเที่ยง” หรือ “หลังเที่ยง” นั้นหมายถึงเที่ยงวันดังเดิม กลางคืนก่อนเที่ยงก็หมายถึง ๑.๐๐-๖.๐๐ นาฬิกากลางคืน หลังเที่ยงก็หมายถึง ๑๘.๐๐-๒๔.๐๐ นาฬิกา ไม่มีทางเข้าใจว่า เป็นก่อนเที่ยงคืน หรือหลังเที่ยงคืนเลย เพราะเที่ยงคืนเป็นเวลาหัวต่อที่จะเปลี่ยนกัน จะเป็นเวลาไหน ๆ ก็เที่ยงคืนทั้งนั้น จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ซึ่งให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาข้อเท็จจริงในสำนวน แล้วพิพากษาใหม่

Share