แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายว่าจำเลยได้เช่าห้องเช่า เกสท์เฮาส์มาจาก บ. มีกำหนดเวลา 9 ปี จำเลยดำเนินกิจการมาแล้ว 2 ปี เหลือเวลาอีก 7 ปี สามารถที่จะให้ ผู้เสียหายเช่าช่วงไปดำเนินกิจการต่อได้ตามกำหนดดังกล่าว ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาเช่าช่วงจากจำเลยความจริง จำเลยทำสัญญาเช่าจาก บ. ไว้เพียง 3 ปี และไม่มีสิทธิจะให้เช่าช่วงได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก บ. การหลอกลวงของจำเลยทำให้จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจาก ผู้เสียหาย และทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายไม่ได้รับสิทธิการเช่าจาก บ. ตามกำหนดเวลาที่ทำไว้กับจำเลยการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 55,000 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์โดยอัยการพิเศษประจำเขต 5 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมอัยการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ให้ลงโทษจำคุก1 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 55,000 บาท แก่ผู้เสียหาย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยได้เช่าห้องเช่าชื่อบุญยังเกสท์เฮาส์จากนางบุญยัง แซ่โล้ว ปรากฏตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530 จำเลยได้นำห้องเช่าดังกล่าวให้นายฉันทรักษ์ หิรัญกาญจน์ ผู้เสียหายเช่าช่วงมีกำหนดระยะเวลา 7 ปี ปรากฏตามบันทึกข้อตกลงให้เช่าสิทธิการเช่าเอกสารหมาย จ.1 ในการเช่าดังกล่าวผู้เสียหายได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยไปเป็นเงินทั้งสิ้น 55,000 บาทเป็นค่าปลูกสร้างต่อเติมที่จำเลยดำเนินการไว้ก่อนให้เช่าจำนวน37,000 บาท ค่าเช่ารายเดือน 8,000 บาท และค่าโอนโทรศัพท์จำนวน 10,000 บาท ต่อมานางบุญยังแจ้งไปผู้เสียหายออกจากห้องเช่าอ้างว่า จำเลยไม่มีสิทธิที่จะนำห้องเช่าไปให้ผู้เสียหายเช่าช่วงผู้เสียหายจึงได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาฉ้อโกงมีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่าก่อนทำสัญญาเช่าจำเลยบอกผู้เสียหายว่าห้องเช่าบุญยังเกสท์เฮาส์เป็นของนางบุญยังจำเลยเป็นหลานนางบุญยังและมีหุ้นส่วนร่วมในธุรกิจหลายอย่างกับนางบุญยัง กับมีอำนาจให้เช่าห้องเช่าบุญยังเกสท์เฮาส์ได้นอกจากนี้จำเลยยังบอกผู้เสียหายอีกว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าห้องเช่าบุญยังเกสท์เฮาส์จากนางบุญยังมีกำหนด 9 ปีดำเนินกิจการมาแล้ว 2 ปี เหลือเวลาอีก 7 ปี จำเลยมีสิทธิให้ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าได้ 7 ปี และโจทก์มีนางบุญยังเป็นพยานเบิกความว่า เดิมนางบุญยังให้จำเลยเช่าห้องเช่าบุญยังเกสท์เฮาส์มีกำหนด 9 ปี แต่นางบุญยังเห็นว่าผูกมัดเกินไป จึงได้ขอเปลี่ยนสัญญาเช่าใหม่มีกำหนด 3 ปี สัญญาเช่าที่ทำกับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 จึงมีหมายเหตุว่า สัญญาเช่าฉบับเดิมเป็นอันยกเลิก ต่อมาประมาณเดือนเมษายน 2531 นางบุญยังทราบว่า จำเลยนำไปให้ผู้เสียหายเช่าช่วงจึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยและให้จำเลยกับผู้เสียหายออกจากห้องเช่าผู้เสียหายอยู่ต่อมาอีก 1 เดือนก็ออกจากห้องเช่าไป ศาลฎีกาเห็นว่าพยานโจทก์ทั้ง 2 ปากนี้ ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนโดยเฉพาะนางบุญยังนั้นเป็นญาติห่าง ๆ กับจำเลยจึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะปรักปรำจำเลย คำเบิกความก็ได้ความสอดคล้องต้องกัน เมื่อฟังประกอบกับบันทึกข้อตกลงให้เช่าสิทธิการเช่าตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจำเลยทำกับผู้เสียหายแล้วจึงเชื่อได้ว่า จำเลยได้ใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายว่าจำเลยได้เช่าห้องเกสท์เฮาส์มาจากนางบุญยังมีกำหนดเวลา 9 ปี จำเลยดำเนินกิจการมาแล้ว 2 ปี เหลือเวลาอีก 7 ปี สามารถที่จะให้ผู้เสียหายเช่าช่วงไปดำเนินกิจการต่อได้ตามกำหนดดังกล่าว การหลอกลวงของจำเลยนี้ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อตกลงทำสัญญาเช่าช่วงจากจำเลย ซึ่งความจริงแล้วจำเลยทำสัญญาเช่าจากนางบุญยังไว้เพียง 3 ปี และไม่มีสิทธิที่จะให้เช่าช่วงได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนางบุญยัง การหลอกลวงของจำเลยดังกล่าวทำให้จำเลยได้ไปซึ่งทรัพย์สินจำนวน 55,000 บาท จากผู้เสียหาย และทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายโดยไม่ได้สิทธิการเช่าจากนางบุญยังตามกำหนดเวลาที่ทำไว้กับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับ 3,000 บาท อีกสถานหนึ่งส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2