คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 586/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า บันทึกข้อตกลงและสัญญาร่วมลงทุนไม่เป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 กลับอุทธรณ์และฎีกาว่าบันทึกและสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะโดยอ้างเหตุผลขึ้นใหม่นอกเหนือจากคำให้การ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้จึงไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ข้อตกลงตามสัญญาระบุให้จำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 3 และหรือจำเลยที่ 4 และหรือจำเลยที่ 5 รับผิดซื้อหุ้นทั้งหมดคืนจากโจทก์ตามสัดส่วนการถือหุ้น จึงเป็นกรณีที่เป็นหนี้ที่มีลูกหนี้หลายคนอันจะแบ่งกันชำระได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 290 การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จึงขัดต่อมาตรา 290 และข้อสัญญาดังกล่าว การวินิจฉัยขัดต่อข้อกฎหมายและข้อสัญญาเช่นนี้ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 5 ไม่ฎีกา ก็สมควรให้มีผลถึงจำเลยที่ 5 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,695,123.29 บาท พร้อมผลตอบแทนในอัตราร้อยละ12 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 4,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และเมื่อจำเลยทั้งสิบเอ็ดชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 รับโอนหุ้นที่โจทก์ถือจำนวน 400,000 หุ้น คืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 11 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 และที่ 8 ขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณาปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 6 ได้ถึงแก่ความตายก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับคำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 6 และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับคำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 6
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,500,000 บาท พร้อมผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 4,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 ธันวาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และเมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ชำระเงินข้างต้นแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับโอนหุ้นที่โจทก์ถือจำนวน 400,000 หุ้นคืน กับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 7 ถึงที่ 11 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 7 ถึงที่11 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 2 ใช้แทนโจทก์ 10,000 บาท และค่าทนายความให้ที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้แทนโจทก์อีก 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดตามสัญญาร่วมลงทุนต่อโจทก์หรือไม่ อย่างไร และเพียงใด โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่า บันทึกข้อตกลงร่วมลงทุน และสัญญาร่วมลงทุนเป็นโมฆะ เพราะข้อตกลงร่วมลงทุน ข้อ 7 และสัญญาร่วมลงทุน ข้อ 2.2 มีผลให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดต้องใช้ทุนของจำเลยที่ 1 รับซื้อหุ้นของตนเองคืนจากโจทก์ผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 เอง ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1143 และมาตรา 1269 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 อ้างในคำให้การแต่เพียงว่า บันทึกข้อตกลงร่วมลงทุนและสัญญาร่วมลงทุนขัดต่อกฎหมายเป็นโมฆะ โดยอ้างเหตุผลว่าข้อความตามสัญญาร่วมทุน ข้อ 3.4 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดรับโอนหุ้นของตนเองคืนหากผิดสัญญา ซึ่งประเด็นดังกล่าวศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ข้อสัญญาดังกล่าวระบุให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับผิดโดยต้องซื้อหุ้นทั้งหมดคืนจากโจทก์ มิได้ระบุให้จำเลยที่ 1 รับโอนหุ้นคืนจากโจทก์แต่อย่างใด ต่อมาจำเลยที่ 2 กลับกล่าวอ้างในอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยที่ 2 ขึ้นใหม่ว่า บันทึกข้อตกลงร่วมลงทุน ข้อ 7 ประกอบสัญญาร่วมลงทุน ข้อ 2.2 ขัดต่อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้จึงไม่ชอบ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดร่วมกันในหนี้เงินค่าหุ้นที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องซื้อคืนจากโจทก์ตามสัญญาร่วมลงทุน ข้อ 3.4 หรือไม่ ข้อ 3.4 มีความว่า “หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ได้ ผู้ถือหุ้นโดยจำเลยที่ 5 และหรือจำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 3 และหรือจำเลยที่ 4 จะต้องซื้อหุ้นทั้งหมดคืนจากโจทก์ตามสัดส่วนการถือหุ้นในราคา…” และข้อ 4.1 ได้กล่าวถึงสัดส่วนการถือหุ้นของจำเลยแต่ละคนก่อนที่โจทก์จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ไว้ ส่วนข้อ 4 (2) กล่าวถึงสัดส่วนการถือหุ้นของจำเลยแต่ละคนหลังจากที่โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 แล้วไว้ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ได้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะมีความรับผิดเบื้องต้นต่อโจทก์ในอันที่จะต้องรับซื้อหุ้น 400,000 หุ้น ที่โจทก์ซื้อไว้เมื่อจำเลยที่ 1 เพิ่มทุนคืนจากโจทก์ และเป็นการรับซื้อคืนตามสัดส่วนการถือครองหุ้นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แต่ละคน โดยใช้สัดส่วนหลังจากที่โจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 แล้ว และโดยที่บทบัญญัติลักษณะบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1096 บัญญัติว่า “อันว่าบริษัทจำกัดนั้น คือบริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่าๆ กันโดยมีผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ” ดังนี้ ทุนของจำเลยที่ 1 ที่แบ่ง เป็นหุ้นแล้วจึงเป็นทรัพย์ที่แบ่งได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดด้วยการรับซื้อหุ้นที่โจทก์ถืออยู่คืนจากโจทก์ จึงเป็นหนี้ที่มีลูกหนี้หลายคนอันจะแบ่งกันชำระได้ ซึ่งหากมิได้ตกลงเป็นอย่างอื่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยลูกหนี้และเจ้าหนี้หลายคนมาตรา 290 บัญญัติว่า “ถ้าการชำระหนี้เป็นการอันจะแบ่งกันชำระได้ และมีบุคคลหลายคนเป็นลูกหนี้ก็ดี มีบุคคลหลายคนเป็นเจ้าหนี้ก็ดี เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านว่าลูกหนี้แต่ละคนจะต้องรับผิดเพียงเป็นส่วนเท่า ๆ กัน และเจ้าหนี้แต่ละคนก็ชอบที่จะได้รับแต่เพียงเป็นส่วนเท่าๆ กัน” กฎหมายมาตรานี้มิได้บัญญัติให้เป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 291 เพียงแต่ให้ลูกหนี้หลายคนในกรณีเช่นนี้รับผิดต่อเจ้าหนี้เป็นส่วนเท่าๆ กัน อย่างไรก็ตามการที่สัญญาร่วมลงทุน ข้อ 3.4 ใช้ถ้อยคำว่า “ตามสัดส่วนการถือหุ้น”จึงมีความหมายว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันให้แตกต่างไปจากมาตรา 290 กล่าวคือตกลงให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ตามสัดส่วนการถือหุ้นของแต่ละคน ซึ่งย่อมสามารถทำได้ตามมาตรา 151 เพราะมาตรา 290 ไม่ใช่บทบัญญัติอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาข้อ 3.4 ดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในหนี้เงินค่าหุ้นที่ต้องรับซื้อคืนจากโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม จึงขัดต่อมาตรา 290 และสัญญาข้อ 3.4 ดังกล่าว ปัญหาเรื่องการที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยขัดต่อข้อกฎหมายและข้อสัญญาเช่นว่านี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 5 ไม่ได้ฎีกา ก็สมควรให้มีผลถึงจำเลยที่ 5 ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์คนละ 540,000 บาท จำเลยที่ 4 ชำระเงินแก่โจทก์ 270,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 5 ชำระเงินแก่โจทก์ 3,150,000 บาท พร้อมผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 480,000 บาท 480,000 บาท 240,000 บาท และ 2,800,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดตามลำดับนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 ธันวาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อโจทก์ได้รับเงินครบตามจำนวนที่จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 5 ต้องรับผิดแล้ว ให้โจทก์โอนหุ้นให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ตามสัดส่วนที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิด หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้เป็นพับ

Share