คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 586/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ครูโรงเรียนประชาบาลต่างจังหวัดเช่าห้องแถวอยู่ แล้วเปิดเป็นร้านค้าเครื่องเขียนและสินค้าเบ็ดเตล็ดมีสินค้าราคาราวพันบาท ยกป้ายและเสียภาษีการค้ามาทุกปีนั้น ย่อมแสดงว่าใช้สถานที่เป็นร้านค้าเป็นส่วนใหญ่ย่อมไม่อยู่ในความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ให้นายประชา แอกทอง เช่าห้องแถวของจำเลยซึ่งอยู่ที่ถนนธนสารในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ รวม 2 ห้องเป็นเงินค่าเช่าเดือนละ 10 บาท อันเป็นค่าเช่าครั้งสุดท้ายก่อนวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ต่อมาจำเลยได้ขึ้นค่าเช่าตามลำดับจนถึงเดือนละ 20 บาท โดยมิได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมค่าเช่าส่วนท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พ.ศ. 2486 มาตรา 7 และ 16

จำเลยให้การรับว่า เดิมเก็บค่าเช่าจากนายประชาห้องละ 2 บาท50 สตางค์ รวมเดือนละ 5 บาท ต่อมานายประชาได้ประกอบการค้าขึ้นจำเลยจึงได้เรียกค่าเช่าเพิ่มขึ้นเป็นห้องละ 4 บาท รวม 8 บาท ต่อเดือน หาได้ขึ้นถึง 20 บาทไม่

ทางพิจารณาได้ความว่า เดิมนายประชาซึ่งเป็นครูโรงเรียนประจำจังหวัดได้เช่าห้องของจำเลยเป็นที่อยู่อาศัย ต่อมานายประชาแต่งงานแล้วได้เปิดห้องที่อยู่นี้เป็นร้านค้า ขายเครื่องเรียนให้ชื่อว่าร้านศรีประชา มีสินค้าราคาประมาณ 1,000 บาท และได้เสียภาษีการค้ามาทุกปี จำเลยจึงได้ขึ้นค่าเช่าเป็นเดือนละ 8 บาท ส่วนการขึ้นในตอนเดือนกันยายน 2488 ซึ่งพยานโจทก์ว่า จำเลยขึ้นเป็นห้องละ 10 บาทนั้น จำเลยสืบปฏิเสธว่า ไม่ได้ขึ้น

ศาลจังหวัดสุรินทร์เห็นว่า ห้องเช่ารายนี้ นายประชาใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ แม้นายประชาจะได้ออกร้านค้าเครื่องเขียนก็เป็นส่วนย่อย จึงยังเป็นเคหะอยู่ตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2488 มาตรา 3 เมื่อจำเลยขึ้นค่าเช่าเป็น 8 บาท โดยมิได้รับอนุญาตจากกรรมการควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันจำเลยจึงต้องมีผิด พิพากษาให้ปรับจำเลย 200 บาท ตามกฎหมายที่โจทก์อ้าง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่นายประชาทำการค้า มีสินค้าราคาประมาณ1,000 บาท มีชื่อร้านและเสียภาษีการค้ามาทุกปีนั้น จะอ้างว่าเช่าเป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่มิได้ จำเลยไม่ควรมีผิด จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป

โจทก์ฎีกาคัดค้านว่า นายประชาใช้ห้องรายนี้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้จะต้องบังคับตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พ.ศ. 2486 ซึ่งได้แก้ไขโดยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2488 เพราะกรณีนี้เกิดก่อนใช้พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน พ.ศ. 2489 และพระราชบัญญัติฉบับเก่าเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2488 บัญญัติบทวิเคราะห์ศัพท์ของคำว่า “เคหะ” ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ไว้ว่า หมายความว่า “สิ่งปลูกสร้างซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่” ดังนี้ปัญหาจึงมีว่า นายประชาได้ใช้ห้องเช่ารายนี้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ เมื่อได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่นายประชาผู้เช่าได้เปิดห้องรายนี้เป็นร้านค้าขายเครื่องเขียนและสินค้าเบ็ดเตล็ด มีสินค้าราคาราว 1,000 บาท ได้ยกป้ายร้านและเสียภาษีการค้ามาทุกปี ย่อมแสดงว่า นายประชาได้ใช้สถานที่นี้เป็นร้านค้าเป็นส่วนใหญ่แล้ว หาใช่ทำเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นส่วนย่อยเท่านั้นไม่จึงไม่ควรได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายที่โจทก์อ้าง ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว

จึงพร้อมกันพิพากษายืน

Share