คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5857/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในขณะจำเลยถูกฟ้องคดีนี้ยังไม่มีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลชั้นต้น ดังนั้น ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาจึงมีอำนาจพิจารณาคดีของจำเลยซึ่งอยู่ในเขตอำนาจได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 58 (3) เดิมก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นที่บัญญัติความว่า ถ้าไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีอาญาธรรมดาตาม ป.วิ.อ. มีอำนาจพิจารณาคดีนั้น แม้ต่อมาปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาคดีนี้ได้มี พ.ร.ฎ.กำหนดให้เปิดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลชั้นต้นก็ตาม ศาลชั้นต้นก็ยังคงมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีนี้จนเสร็จสำนวนได้ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้ศาลที่พิจารณาคดีที่เด็กหรือเยาวชนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอยู่ก่อนแล้วต้องโอนคดีไปยังแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ดังนั้น การพิจารณาและพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 138 วรรคสอง, 140 วรรคสอง, 276, 310, 340, 340 ตรี ริบรถจักรยานยนต์และท่อนไม้กลมของกลาง และให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 9,300 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 วรรคสอง, 310 วรรคแรก, 83 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ข้อหาและคำขออื่นให้ยก ส่วนที่โจทก์ขอให้ริบรถจักรยานยนต์และท่อนไม้กลมของกลางนั้น เนื่องจากในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 750/2545 ของศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ริบของกลางดังกล่าวแล้ว จึงให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 310 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ลงหนึ่งในสาม ให้ลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 33 ปี 4 เดือน ลดโทษให้อีกหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งกัน รับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายถูกคนร้ายหลายคนร่วมกันฉุดจับตัวจากริมถนนขึ้นรถจักรยานยนต์พาไปที่ศาลาที่พักกลางทุ่งนาแล้วคนร้าย 5 คน ได้ผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายมีเจ้าพนักงานตำรวจติดตามไปถึงที่เกิดเหตุทำให้คนร้ายหลบหนีไป คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า จำเลยเป็นคนร้ายร่วมกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่ารถจักรยานยนต์ของคนร้ายมี 3 คัน คนร้ายขับและนั่งซ้อนท้ายกันมารวมทั้งหมด 8 คน มาจอดห่างผู้เสียหายประมาณ 2 เมตร คนที่นั่งซ้อนท้ายทั้งหมดลงจากรถมาหาผู้เสียหาย มีคนหนึ่งเข้ามาจับแขน อีกคนหนึ่งชกท้อง ผู้เสียหายมีอาการจุกจึงนั่งลง คนที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันแรกจับมือผู้เสียหายไพล่หลังกระชากขึ้นรถจักรยานยนต์ผลักให้นั่งคร่อมรถจักรยานยนต์คันแรก แล้วชายดังกล่าวนั่งซ้อนท้ายคุมเชิง รถจักรยานยนต์แล่นเข้าเมืองมาทางห้างสรรพสินค้าไดอานาถึงสี่แยกตะลุโบะเลี้ยวซ้ายไปทางจังหวัดนราธิวาส เลี้ยวเข้าถนนลูกรังฝั่งตรงข้ามสามแยกเข้าเมืองปัตตานีเป็นทางเข้าหมู่บ้านสะดาวา มีรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งแล่นมาด้วย ผู้เสียหายร้องขอให้กลับไปส่งผู้เสียหาย แต่คนที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งซึ่งถือไม้บอกให้หยุดพูด มิฉะนั้นจะใช้ไม้ตี รถจักรยานยนต์แล่นพาผู้เสียหายไปตามหมู่บ้านเล็ก ๆ ถึงศาลาที่พักกลางทุ่งนา มีคนนั่งรออยู่ 4 ถึง 5 คน พูดภาษายาวีกันแล้วคนที่นั่งซ้อนท้ายมาด้วยผลักผู้เสียหายลงจากรถ ถอดเสื้อผ้าผู้เสียหายออกเหลือแต่กางเกงใน และยังถอดสร้อยคอทองคำพร้อมจี้ทองคำและนาฬิกาข้อมือของผู้เสียหายไป กลุ่มคนดังกล่าวผลักผู้เสียหายขึ้นบนศาลาและให้นอนหงาย มีคนมาช่วยจับมือและขา ผู้เสียหายถีบต่อสู่ แต่ขัดขืนไม่ไหว ชายคนแรกถอดกางเกงในผู้เสียหายออกแล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนเสร็จ มีคนอื่นถอดเสื้อผ้ารออยู่ 7 ถึง 8 คน เมื่อคนที่สองข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายเสร็จ มีแสงไฟจากรถจักรยานยนต์ขับผ่านมา กลุ่มคนดังกล่าวพาผู้เสียหายเข้าไปในป่าละเมาะแล้วพาผู้เสียหายขึ้นมาข่มขืนกระทำชำเราต่อจนเสร็จเป็นคนที่ห้าก็มีแสงไฟสปอทไลท์ส่องมา กลุ่มคนดังกล่าววิ่งหลบหนีเข้าไปในป่าละเมาะ ผู้เสียหายวิ่งเปลือยกายตรงไปยังแสงไฟพบเจ้าเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจติดตามคนร้ายไปก็มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจให้เสื้อผ้าผู้เสียหายใส่แล้วพาไปสถานีตำรวจ และส่งไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ผู้เสียหายยืนยันว่า จำเลยเป็นคนขับรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายถูกบังคับให้นั่งซ้อนท้ายไป โดยระหว่างขับรถจำเลยจะหันมามองผู้เสียหายอยู่เป็นระยะ ๆ เห็นว่า แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว แต่ผู้เสียหายได้เบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดเป็นขั้นเป็นตอนสมเหตุสมผล ไม่มีข้อพิรุธ และยังได้ความจากผู้เสียหายว่าบริเวณถนนนาเกลือที่ผู้เสียหายถูกฉุดมีแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าริมถนนสาธารณะสามารถมองเห็นกันได้ และระหว่างทางผ่านห้างสรรพสินค้าก็มีแสงสว่างจากหลอดไฟริมถนนและจากบ้านประชาชน ซึ่งในข้อนี้ร้อยตำรวจเอกไวยวิทย์ นพรัตน์ เจ้าพนักงานตำรวจพยานโจทก์ที่ตามไปช่วยผู้เสียหายเบิกความสนับสนุนว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟฟ้าสาธารณะติดอยู่ตรงข้ามกับจุดเกิดเหตุ สามารถมองเห็นได้ทั่วบริเวณทั้งสองฝั่งถนน และมีเสาไฟฟ้าในตำแหน่งสลับกันทำให้มีแสงสว่างตลอดแนวถนนเช่นนี้ระหว่างทางที่ผู้เสียหายถูกบังคับให้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผ่านห้างสรรพสินค้าตลอดจนบ้านเรือนประชาชนจนถึงจุดที่ผู้เสียหายถูกข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายย่อมมีโอกาสมองเห็นหน้าคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์ให้ผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายได้อย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานพอสมควรจำหน้ากันได้ไม่ผิดตัว ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายเคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำให้ร้ายจำเลย เชื่อว่าผู้เสียหายเบิกความตามความจริงและจำหน้าจำเลยได้ ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนยอมรับว่าได้ร่วมกับพวกฉุดผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเราจริง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยถูกบังคับขู่เข็ญให้ให้การแต่อย่างใด แสดงว่าให้การด้วยความสมัครใจ เป็นข้อสนับสนุนให้คำเบิกความของผู้เสียหายมีน้ำหนักมากขึ้น แม้ผู้เสียหายจะเบิกความว่าไม่แน่ใจว่าจำเลยเป็นคนร้ายหนึ่งในห้าที่ได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายก็ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกฉุดผู้เสียหายไปข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด ข้อนำสืบอ้างฐานที่อยู่ของจำเลยเป็นเพียงคำเบิกความของจำเลยกับพยานจำเลยลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่จำเลยฎีกาว่า การฉุดผู้เสียหายขึ้นนั่งรถจักรยานยนต์ไม่สามารถทำได้หากผู้เสียหายไม่ยินยอม และยังขัดต่อเหตุผลที่จะพาผู้เสียหายผ่านย่านชุมชนและห้างสรรพสินค้านั้น ในข้อนี้ผู้เสียหายเบิกความว่า ก่อนฉุดขึ้นรถจักรยานยนต์ พวกของจำเลยเข้าทำร้ายผู้เสียหายจนมีอาการจุกจึงสามารถฉุดผู้เสียหายขึ้นรถจักรยานยนต์โดยง่ายและเนื่องจากขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนดึกแล้ว ผู้คนสัญจรน้อย จำเลยกับพวกจึงกล้าขับรถนำผู้เสียหายผ่านย่านชุมชนเพื่อพาไปยังเส้นทางสู่หมู่บ้านของจำเลยกับพวก การที่ขณะจำเลยขับรถแล้วหันมามองผู้เสียหายที่นั่งซ้อนท้ายเป็นระยะ ๆ นั้น หาทำให้คำเบิกความพยานโจทก์มีพิรุธไม่ และที่จำเลยให้การในชั้นสอบสวนไม่ตรงกับคำเบิกความของผู้เสียหายนั้นก็เป็นเรื่องปกติที่ผู้ต้องหาย่อมปกปิดข้อเท็จจริงบางอย่างเพื่อประโยชน์ของตน ที่จำเลยฎีกาว่าคำเบิกความของผู้เสียหายกับเด็กหญิงพรพรรณ คงวัดใหม่ ต่างกันเกี่ยวกับเวลาเดินออกจากบ้านระหว่าง 22 นาฬิกา กับประมาณ 0 นาฬิกาเศษของวันใหม่นั้นเป็นเพียงข้อแตกต่างกันในรายละเอียด ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ ที่จำเลยฎีกาว่า จากคำเบิกความของนายพรเทพ นวลเจริญ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ว่าได้ตรวจร่างกายผู้เสียหายภายนอกเป็นปกติไม่พบร่องรอยถูกทำร้าย และได้ความว่าผู้เสียหายมีสามีแล้ว ทำให้มีข้อสงสัยว่าผู้เสียหายจะถูกทำร้ายและถูกข่มขืนกระทำชำเราหรือไม่ ในข้อนี้ปรากฏตามคำเบิกความของนายพรเทพ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายผู้เสียหายในคืนเกิดเหตุว่า ตรวจพบตัวอสุจิและสารที่สามารถตรวจพบในน้ำกามภายในช่องคลอดของผู้เสียหาย และช่องคลอดของผู้เสียหายฉีกขาด แสดงว่าผู้เสียหายถูกกระทำชำเราอย่างรุนแรง ย่อมบ่งชี้ว่าผู้เสียหายถูกข่มขืนกระทำชำเรา ฎีกาข้ออื่นของจำเลยนอกจากนี้เป็นข้อปลีกย่อย ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาจำเลยว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาคดีของจำเลยหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุเพียง 17 ปีเศษ คดีของจำเลยอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลจังหวัดปัตตานีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวนั้น เห็นว่า ในขณะเกิดเหตุจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลสะดาวา อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดที่ตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี และตำบลสะดาวา อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เกี่ยวพันกัน และขณะฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2543 ยังไม่มีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลชั้นต้น ดังนั้น ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงมีอำนาจพิจารณาคดีของจำเลยซึ่งอยู่ในเขตอำนาจได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 58 (3) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติความว่า ถ้าไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติและในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีอาญาธรรมดาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจพิจารณาคดีนั้น แม้ต่อมาปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาคดีนี้ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เดทำการแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543 ก็ตาม ศาลชั้นต้นก็ยังคงมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีนี้จนเสร็จสำนวนได้ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาที่มีอำนาจพิจารคดีที่เด็กหรือเยาวชนถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอยู่ก่อนแล้วต้องโอนคดีไปยังแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ดังนั้นการพิจารณาและพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share