คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5949/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 75 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิแก่นายจ้างที่ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษกิจสามารถหยุดดำเนินกิจการไว้ชั่วคราวเพื่อให้โอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไปหรือบรรเทาลงได้ ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกันว่า ในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวโจทก์ผลิตสินค้าบางส่วนเพราะมีวัตถุดิบเหลืออยู่ เมื่อวัตถุดิบหมดก็หยุดผลิต และปรากฏตามงบการเงินของโจทก์และหมายเหตุประกอบงบการเงิน ที่ศาลแรงงานกลางนำมาประกอบการวินิจฉัย และคู่ความไม่โต้แย้งว่าโจทก์มีทุนตจดทะเบียน 100,000,000 บาท มีวัตถุดิบคงเหลือ 30,800,000 บาท งานระหว่างทำ 16,700,000 บาท โจทก์เจรจากับเจ้าหนี้เงินกู้ระยะยาวเพื่อหาแนวทางการขายกิจการและจ่ายคืนเงินกู้ แสดงว่าแม้โจทก์จะมีการผลิตระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 แล้ว โจทก์ก็ยังคงมีวัตถุดิบคงเหลือและงานระหว่างทำ (สินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิด) เหลืออยู่อีก การผลิตของโจทก์ในช่วงที่หยุดกิจการชั่วคราวจึงเป็นไปเพื่อไม่ให้วัตถุดิบและงานระหว่างทำเสียเปล่าทั้งยังมีรายรับเข้าสู่กิจการ เป็นการบรรเทาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทางหนึ่ง ส่วนที่โจทก์สั่งสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาจำหน่ายนั้น ปรากฏตามคำสั่งของจำเลยว่าโจทก์ประกอบกิจการผลิตลวดเหล็ก ลวดผูกเหล็ก ลวดชุบสังกะสี ตะแกรงเหล็กเสริมคอนกรีต ลวดตาข่ายทุกชนิด ไม่ได้ประกอบกิจการประเภทซื้อมา-ขายไป การที่โจทก์สั่งสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาจำหน่ายก็เพราะมีราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของโจทก์ เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ใช่โจทก์เปลี่ยนประเภทกิจการ การพิจารณาว่าโจทก์จำเป็นต้องหยุดกิจการหรือไม่ต้องพิจารณาจากการประกอบกิจการผลิตของโจทก์ เมื่อปรากฎว่าโจทก์ขาดทุนสะสมถึง 114,000,000 บาท เกินกว่าทุนจดทะเบียนที่มีเพียง 100,000,000 บาท ไม่มีคำสั่งซื้อและสินค้าที่ผลิตจำหน่ายไม่ได้จนโจทก์ต้องหาทางขายกิจการเพื่อนำมาจ่ายคืนให้เจ้าหนี้ จึงเป็นกรณีโจทก์มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการผลิตทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุที่มิใช่เหตุสุดวิสัยตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงชอบที่จะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนโจทก์หยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่โจทก์ไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงานได้
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า พยานจำเลยเบิกความว่าโจทก์สั่งซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง ที่โจทก์อ้างว่าไม่มีรายการสั่งซื้อจากลูกค้าและสินค้าที่ผลิตขายไม่ได้ไม่อาจรับฟังได้ เป็นอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังตามคำแถลงรับของคู่ความที่ว่าโจทก์ดำเนินการผลิตจนวัตถุดิบที่เหลืออยู่หมดก็หยุดผลิตต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์มีคำสั่งให้ลูกจ้างของโจทก์หยุดงานในระหว่างเดือนกรกฎาคม 2546 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2547 เนื่องจากไม่มีงานให้ลูกจ้างทำ ผลผลิตที่ผลิตออกมาจำหน่ายไม่ได้ รวมทั้งไม่มีรายการสั่งซื้อจากลูกค้าจำต้องปิดกิจการชั่วคราว โดยโจทก์จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 50 ต่อมาในวันที่ 1 มิถุนายน 2547 โจทก์ได้เลิกจ้างโดยลูกจางทั้งหมดสมัครใจลาออกซึ่งโจทก์จ่ายเงินค่าตอบแทนให้จำนวนหนึ่ง ต่อมาลูกจ้างยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาครขอเรียกค่าจ้างอีกร้อยละ 50 จำเลยมีคำสั่งที่ 44/2547 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างและค่าครองชีพอีกร้อยละ 50 ให้แก่ลูกจ้าง 8 คน โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ปิดกิจการชั่วคราวเพราะไม่มีการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้า สินค้าไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้าเนื่องจากราคาสูง ในการที่โจทก์สั่งปิดกิจการชั่วคราวโจทก์ก็ได้แจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงานทราบแล้ว และโจทก์อยู่ระหว่างติดต่อขายกิจการให้แก่ผู้ซื้อโดยอยู่ในขั้นตอนเจรจาประนอมหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้ ระหว่างที่โจทก์ปิดกิจการชั่วคราวโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 50 เพื่อรักษาสภาพการเป็นลูกจ้างไว้เพื่อส่งมอบลูกจ้างให้แก่ผู้ซื้อ ต่อมาในภายหลังโจทก์และลูกจ้างทั้งหมดได้ปรึกษากันและตกลงกันว่าลูกจ้างจะขอลาออกจากงานโดยสมัครใจ โดยโจทก์จ่ายค่าตอบแทนให้จำนวนหนึ่งพร้อมกับทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่าลูกจ้างจะไม่เรียกร้องสิ่งใด ๆ จากโจทก์อีก ลูกจ้างทั้งหมดจึงไม่ได้สิทธิเรียกร้องค่าจ้างและค่าครองชีพอีกร้อยละ 50 จากโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 44/2547
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์ไม่ได้มีการปิดกิจการชั่วคราวโจทก์เปิดกิจการตลอดเวลาแต่ได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกมาทำงานและจ้างลูกจ้างรายเหมาทำงานแทนลูกจ้างรายวัน รวมทั้งโจทก์ได้สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศมาขายแทน แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาไม่ให้ลูกจ้างรายวันทำงานต่อไปจึงมีคำสั่งให้หยุดทำงานชั่วคราวเป็นเวลาถึง 7 เดือน ทำให้ลูกจ้างไม่มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงชีพ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่มีมูลเหตุความจำเป็นที่โจทก์จะต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว โจทก์จึงต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเต็มจำนวน บันทึกระหว่างโจทก์กับลูกจ้างขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในเรื่องการจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาครที่ 44/2547
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการผลิตทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิแก่นายจ้างที่ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจสามารถหยุดดำเนินกิจการไว้ชั่วคราวเพื่อให้โอกาสแก้ไขวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดสิ้นไปหรือบรรเทาลงได้ ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกันว่าในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวโจทก์ผลิตสินค้าบางส่วนเพราะมีวัตถุดิบเหลืออยู่ เมื่อวัตถุดิบหมดก็หยุดผลิต และปรากฏตามงบการเงินของโจทก์และหมายเหตุประกอบงบการเงิน ที่ศาลแรงงานกลางนำมาประกอบการวินิจฉัยและคู่ความไม่โต้แย้งว่าโจทก์มีทุนจดทะเบียน 100,000,000 บาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2546 โจทก์ขาดทุนสะสม 114,000,000 บาท มีวัตถุดิบคงเหลือ 30,800,000 บาท งานระหว่างทำ 16,700,000 บาท โจทก์เจรจากับเจ้าหนี้เงินกู้ระยะยาวเพื่อหาแนวทางการขายกิจการและจ่ายคืนเงินกู้ แสดงว่าแม้โจทก์จะมีการผลิตระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 แล้ว โจทก์ก็ยังคงมีวัตถุดิบคงเหลือและงานระหว่างทำ (สินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิต) เหลืออยู่อีก การผลิตของโจทก์ในช่วงที่หยุดกิจการชั่วคราว จึงเป็นไปเพื่อไม่ให้วัตถุดิบและงานระหว่างทำเสียเปล่าทั้งยังมีรายรับเข้าสู่กิจการ เป็นการบรรเทาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทางหนึ่ง ส่วนที่โจทก์สั่งสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาจำหน่ายนั้นปรากฏตามคำสั่งที่ 44/2547 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ของจำเลยว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตลวดเหล็ก ลวดผูกเหล็ก ลวดหนาม ลวดชุบสังกะสี ตะแกรงเหล็กเสริมคอนกรีต ลวดตาข่ายทุกชนิด ไม่ได้ประกอบกิจการประเภทซื้อมา-ขายไป การที่โจทก์สั่งสินค้าจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาจำหน่ายก็เพราะมีราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของโจทก์ เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ใช่โจทก์เปลี่ยนประเภทกิจการ การพิจารณาว่าโจทก์จำเป็นต้องหยุดกิจการหรือไม่ ต้องพิจารณาจากการประกอบกิจการผลิตของโจทก์ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ขาดทุนสะสมถึง 114,000,000 บาท เกินกว่าทุนจดทะเบียนที่มีเพียง 100,000,000 บาท ไม่มีคำสั่งซื้อและสินค้าที่ผลิตจำหน่ายไม่ได้จนโจทก์ต้องหาทางขายกิจการเพื่อนำเงินมาจ่ายคืนให้เจ้าหนี้ จึงเป็นกรณีโจทก์มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการผลิตทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุที่มิใช่เหตุสุดวิสัยตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงชอบที่จะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 50 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนโจทก์หยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่โจทก์ไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงานได้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า พยานจำเลยเบิกความว่าโจทก์สั่งซื้อวัตถุดิบมาผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง ที่โจทก์อ้างว่าไม่มีรายการสั่งซื้อจากลูกค้าและสินค้าที่ผลิตขายไม่ได้ไม่อาจรับฟังได้ เป็นอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังตามคำแถลงรับของคู่ความที่ว่าโจทก์ดำเนินการผลิตจนวัตถุดิบที่เหลืออยู่หมดก็หยุดผลิต ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน.

Share