คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1525/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามปกติบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไปในเวลากลางคืนเมื่อเดินไป ตามถนนย่อมจะไม่มองดูว่าที่ถนนมีไฟฟ้าติดตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง จำนวนกี่ดวง เป็นหลอดไฟฟ้าลักษณะใดบ้าง เมื่อบันทึกการตรวจ สถานที่เกิดเหตุซึ่งร้อยตำรวจตรี ส. จดบันทึกไว้ทันทีในคืนเกิดเหตุระบุถึงลักษณะและสภาพของไฟฟ้าส่องสว่างว่ามีไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณที่เกิดเหตุและมาเบิกความประกอบบันทึกดังกล่าวยืนยันว่ามีแสงสว่างสามารถมองเห็นกันได้ในบริเวณดังกล่าวในระยะห่าง 10 เมตร ย่อมฟังได้ว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงส่องสว่างสามารถมองเห็นกันได้ในระยะ 10 เมตร และเมื่อพยานโจทก์เบิกความตรงกันว่าจำเลยเป็น คนยิงผู้เสียหายโดยมีสิ่งช่วยจำเป็นพิเศษคือจำเลยสวมหมวกแก๊ปผ้าสีพรางทั้งในขณะนั่งอยู่ในโรงภาพยนตร์และขณะใช้อาวุธปืน ยิงผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิง ผู้เสียหาย แม้บันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุจะลงวันที่ซึ่งเป็นวันที่ ก่อนเกิดเหตุ 7 วันก็ตาม แต่ข้อความในบันทึกดังกล่าวระบุวันเวลา ที่เกิดเหตุและร่องรอยหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุได้ถูกต้องตรงตามประเด็นแห่งคดี เหตุที่บันทึกดังกล่าวลงวันที่ก่อนเกิดเหตุ นั้นอาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่พิมพ์วันที่ผิดพลาด ไม่เป็นเหตุ ให้ข้อความในเอกสารเป็นพิรุธหรือไม่น่าเชื่อถือ บันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 80, 289(4) ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 80 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตริบปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ลงโทษจำคุก 12 ปีคำให้การจำเลยในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก8 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งกันฟังได้ว่าก่อนเกิดเหตุ นายพร้อมพลญาติผู้เสียหายมีเรื่องวิวาทชกต่อยกับจำเลย ต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2534 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ผู้เสียหาย นายพร้อมพล นายสราวุธและนายสิทธิพรพากันไปดูภาพยนตร์ พบจำเลยในโรงภาพยนตร์ จำเลยสวมหมวดแก๊ปผ้าสีพราง ดูภาพยนตร์แล้วผู้เสียหายกับพวกดังกล่าวเดินไปตามถนนสายลพบุรี-สิงห์บุรีขณะเดินอยู่ด้านขวาของสะพานวัดมณีชลขันต์ มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงเข้ามาทางผู้เสียหายกับพวกหลายนัดกระสุนปืนถูกต้นขาซ้ายผู้เสียหาย 2 แห่ง เกิดเหตุแล้วเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสถานที่เกิดเหตุพบปลอกกระสุนปืนขนาด .22จำนวน 2 ปลอกและรองเท้าฟองน้ำ 1 คู่ ยึดเป็นของกลาง วันที่ 31 กรกฎาคม 2536 ผู้เสียหายและนายพร้อมพลนำร้อยตำรวจโทกิตติวัฒน์ วัฒนเสน รองสารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ไปจับจำเลยได้ที่วัดหนองสุ่ม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นหรือไม่ร้อยตำรวจเอกสุริยะ ตุงคะเสน นายร้อยเวรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรีเบิกความว่า คืนเกิดเหตุในขณะพยานปฏิบัติหน้าที่นายภักดิ์ เอี่ยมประเสริฐ บิดาผู้เสียหายแจ้งว่าผู้เสียหายถูกจำเลยใช้อาวุธปืนยิง พยานไปตรวจที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.13 บริเวณที่เกิดเหตุสามารถมองเห็นกันได้ในระยะ 10 เมตร เนื่องจากมีแสงสว่างจากดวงไฟหลายดวงที่สวนหย่อมฝั่งตรงข้ามและแสงไฟจากศาลาวัดซึ่งอยู่ห่างจากที่จำเลยยืนไม่เกิน 2 เมตร จำเลยฎีกาว่า พยานโจทก์เบิกความขัดกันเกี่ยวกับแสงสว่างบริเวณที่เกิดเหตุ คือ ผู้เสียหายเบิกความว่า เห็นจำเลยจากแสงไฟบริเวณสวนหย่อม แต่ตรงฝั่งวัดมณีชลขันต์ไม่มีแสงไฟโดยอยู่ในบริเวณกำแพงวัด แล้วผู้เสียหายเบิกความใหม่ว่ามีไฟตามทางที่อยู่ตรงบริเวณฝั่งวัดมณีชลขันต์ ส่วนนายสราวุธเบิกความว่า ฝั่งกำแพงวัดมณีชลขันต์ไม่มีไฟ บริเวณดังกล่าวเป็นทางเปลี่ยวและมืด นายพร้อมพลเบิกความว่า เห็นจำเลยถืออาวุธปืนเล็งมาทางพยานห่างประมาณ 10 เมตร เห็นหน้าชัดเจนบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากหลอดไฟริมถนน เห็นว่า ตามปกติบุคคลธรรมดาทั่ว ๆ ไป เมื่อเดินไปตามถนนย่อมจะไม่มองดูว่าที่ถนนมีไฟฟ้าติดตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง จำนวนกี่ดวง เป็นหลอดไฟฟ้าลักษณะใดบ้าง โดยเฉพาะพยานโจทก์ทั้งสามคนเป็นบุคคลในพื้นที่เดินกลับบ้านพร้อมกันเป็นกลุ่มย่อมจะไม่ได้สังเกตและจดจำว่าส่วนใดของถนนที่ตนเดินอยู่นั้นมีไฟฟ้าอยู่ตรงที่ใดบ้าง เพียงแต่ถนนมีแสงสว่างเพียงพอมองเห็นเดินได้ก็เพียงพอแล้ว ประกอบกับคดีนี้เกิดเหตุวันที่ 8 กันยายน 2534 ผู้เสียหายเบิกความต่อศาลวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 นายสราวุธเบิกความต่อศาลวันที่ 15 กรกฎาคม 2537 และนายพร้อมพลเบิกความต่อศาลวันที่ 26 กันยายน 2539 การที่พยานโจทก์ 3 ปาก มาเบิกความต่อศาลถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุซึ่งล่วงเลยไปเป็นเวลา 3 ถึง 5 ปีแล้วความทรงจำของพยานเกี่ยวกับรายละเอียดแห่งคดีโดยเฉพาะการมีดวงไฟบนถนนที่ใดบ้างจำนวนกี่หลอดก็ย่อมจะไขว้เขวเลอะเลือนไปบ้าง ร้อยตำรวจเอกสุริยะปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรในวันเกิดเหตุได้รับแจ้งเหตุแล้ว ก็ไปที่เกิดเหตุทันที พบและยึดปลอกกระสุนปืนขนาด .22 จำนวน 3 ปลอก รองเท้าฟองน้ำ 1 คู่ ในบริเวณที่เกิดเหตุตามบัญชีของกลางเอกสารหมาย จ.12 และทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุไว้ตามเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งระบุลักษณะทั่วไปของแสงสว่างบริเวณที่เกิดเหตุไว้ได้ความว่า ริมราวสะพานบนทางเดินของที่เกิดเหตุมีเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าติดตั้งจำนวน 1 ต้น ซึ่งห่างจากจุดเกิดเหตุไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1 เมตรฝั่งตรงข้ามจุดที่เกิดเหตุคนละฟากถนนเป็นสวนสาธารณะห่างประมาณ 10 เมตร ไปทางทิศใต้ มีแสงสว่างจากโคมไฟฟ้าบริเวณด้านติดกับถนนติดตั้งบนเสาไฟฟ้าที่จัดทำขึ้นเป็นไฟฟ้าชนิดหลอดกลางใหญ่ สีขาว 6 ต้น ต้นละ 1 ดวง บริเวณริมสะพานและริมสันตลิ่ง ของแม่น้ำด้านทิศตะวันตกมีบ้านพักอาศัยจำนวนมากบ้านบางหลังเปิดไฟฟ้าไว้เพื่อทำปลาเตรียมขายส่ง บนศาลาการเปรียญวัดมณีชลขันต์ชั้นบนด้านติดกับถนนเปิดหน้าต่าง 1 บาน และมีไฟฟ้าชนิดหลอดนีออนสว่าง เห็นได้ว่าร้อยตำรวจเอกสุริยะทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.13 ไว้ในคืนวันเกิดเหตุนั้นเองก่อนที่ลักษณะและสภาพของไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณที่เกิดเหตุจะเปลี่ยนแปลงไป ตามคำเบิกความของนายสมศักดิ์ ภักดิ์ปาน ผู้ใหญ่บ้านตำบลพรหมมาสตร์ อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรีพยานจำเลย ดังนี้ แม้พยานโจทก์จะเบิกความเกี่ยวกับแสงสว่างและตำแหน่งที่ตั้งของหลอดไฟฟ้าบริเวณที่เกิดเหตุไม่ตรงกันบ้างก็เป็นเพราะเหตุการณ์ล่วงเลยมานาน ทำให้ความจำเกี่ยวกับรายละเอียดของตำแหน่งที่ตั้งของไฟฟ้าส่องสว่างเลอะเลือนไปหาได้หมายความว่าที่เกิดเหตุไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างเสียทีเดียวไม่เมื่อบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุซึ่งจดบันทึกไว้ทันทีหลังเกิดเหตุเอกสารหมาย จ.13 ระบุว่ามีไฟส่องสว่างบริเวณที่เกิดเหตุและร้อยตำรวจเอกสุริยะเบิกความประกอบเอกสารดังกล่าวยืนยันว่ามีแสงสว่างสามารถมองเห็นกันได้ในบริเวณดังกล่าวในระยะห่าง 10 เมตรข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างสามารถมองเห็นกันได้ในระยะห่าง 10 เมตรปัญหาต่อไปมีว่าผู้เสียหายกับพวกเห็นจำเลยยืนอยู่บริเวณโกศเก็บอัฐิและใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายหรือไม่ จำเลยเบิกความว่าดูภาพยนตร์แล้วจำเลยจ้างรถสามล้อเครื่องไปส่งนางสาวบรรยงค์ ฉ่ำชุ่ม ที่บ้านแล้วจำเลยนั่งรถดังกล่าวกลับบ้านเวลา 23 นาฬิกาเศษ แล้วจำเลยไม่ได้ออกจากบ้านไปที่ใดอีกวันรุ่งขึ้นวันที่ 9 กันยายน 2534 จำเลยไปเล่นปี่พาทย์ ในงานศพที่อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกากลับถึงบ้านเวลา 17 นาฬิกา มารดาจำเลยบอกจำเลยว่าเจ้าพนักงานตำรวจมาถามหาเพราะมีคนกล่าวหาว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจำเลยบอกมารดาว่าไม่ได้ยิงมารดาจำเลยจึงให้จำเลยหลบไปที่บ้านของตาจำเลยที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และจำเลยก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับได้ที่นั้นเอง นับแต่วันเกิดเหตุถึงวันที่จำเลยถูกจับเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี ถูกจับแล้วจำเลยให้การต่อร้อยตำรวจโทกิตติวัฒน์ วัฒนเสนเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยว่าจำเลยวิวาทกับผู้เสียหาย จำเลยล้มทับปืนซึ่งไม่ทราบเป็นของผู้ใดจำเลยหยิบปืนขึ้นมาปืนก็ลั่นถูกใครไม่ทราบ ตามบันทึก การจับกุมเอกสารหมาย จ.2 เห็นได้ว่าคำให้การจำเลยต่อเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อจำเลยถูกจับกุมแตกต่างกับคำเบิกความต่อศาล ข้ออ้างของจำเลยไม่น่ารับฟัง นายสราวุธพยานโจทก์เบิกความว่าเดินขึ้นสะพานไปได้ 10 เมตร ได้ยินเสียงปืนจึงหันหน้าไปดูเห็นจำเลยสวมหมวกเหมือนที่สวมอยู่ในโรงภาพยนตร์ นายสงคราม เอี่ยมประเสริฐบิดานายสราวุธ และเป็นอาของผู้เสียหายเบิกความว่า เวลาประมาณ13 นาฬิกา บุตรชายมาเคาะประตูบ้านและบอกว่าผู้เสียหายถูกจำเลยยิง พยานจึงพาผู้เสียหายไปโรงพยาบาล ผู้เสียหายและนายพร้อมพลต่างเบิกความยืนยันว่า เห็นจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความตรงกันว่าจำเลยเป็นคนยิงผู้เสียหายและมีสิ่งช่วยจำเป็นพิเศษคือจำเลยสวมหมวกแก๊ป ผ้าสีพราง ทั้งในขณะนั่งอยู่ในโรงภาพยนตร์และขณะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่าฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่าบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.13 ลงวันที่1 กันยายน 2534 ซึ่งเป็นวันที่ก่อนวันเกิดเหตุ 7 วัน แสดงว่าบันทึกดังกล่าวไม่ได้ทำในวันเกิดเหตุตามคำเบิกความของร้อยตำรวจโทสุริยะนั้น เห็นว่าเอกสารหมาย จ.13 ดังกล่าวข้อ 7. ระบุว่าวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ วันที่ 9 กันยายน 2534เวลาประมาณ 00.30 นาฬิกา ถึง 02.30 นาฬิกา ข้อความข้อ 7ที่เป็นข้อความเชื่อมโยงต่อเนื่องกับข้อ 5 และข้อ 6 ในเอกสารฉบับเดียวกัน ซึ่งระบุไว้ว่า “ในเวลาเกิดเหตุวันที่ 8 กันยายน 2534เวลาประมาณ 23.00 นาฬิกาเศษ” และ “ในเวลาที่รับแจ้งเหตุวันที่ 9 กันยายน 2534 เวลาประมาณ 00.30 นาฬิกา ตามปจว. ข้อ 1.” และตามข้อ 9.2 เอกสารดังกล่าวระบุไว้ได้ความโดยย่อว่า พบหลักฐานในบริเวณที่เกิดเหตุ คือ รองเท้าฟองน้ำ 1 คู่และปลอกกระสุนปืนขนาด .22 แมกนั่ม ดังนี้ เห็นว่า แม้เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารที่ปรากฏว่า ลงวันที่ 1 กันยายน 2534 แต่ข้อความในเอกสารระบุวันเวลาสถานที่เกิดเหตุและร่องรอยหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุได้ถูกต้องตรงตามประเด็นแห่งคดี จึงเป็นไปไม่ได้ที่ร้อยตำรวจเอกสุริยะจะไม่ได้ทำขึ้นในวันเกิดเหตุดังฎีกาของจำเลยเหตุที่เอกสารลงวันที่ 1 กันยายน 2534 อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่พิมพ์วันที่ผิดพลาด ไม่เป็นเหตุให้ข้อความในเอกสารเป็นพิรุธหรือไม่น่าเชื่อถือ เอกสารหมาย จ.13 รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share