แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หากศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลยุติธรรมเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ก็ชอบที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 กำหนดว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าศาลเห็นเองว่า คดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่ศาลนั้นเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ถ้าศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลที่ส่งความเห็นให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลนั้น หรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ แต่ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ทันทีและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้น จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลเทพมงคลมีมติว่า นายสุนทรและนายบุญช่วยไม่เป็นผู้เช่านา แต่จำเลยกลับมีมติว่าบุคคลทั้งสองเป็นผู้เช่านาเพราะไม่ได้บอกเลิกการเช่านาตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 โจทก์ทั้งสองเห็นว่าเป็นมติที่ไม่ชอบขอให้เพิกถอนมติของจำเลยในการประชุมครั้งที่ 3/2546 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2546
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นคำสั่งขององค์กรฝ่ายปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและให้จำหน่ายคดี คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้น ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่าคดีของโจทก์ทั้งสองอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 กำหนดว่าในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าศาลเห็นเองว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่ศาลนั้นเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ถ้าศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลที่ส่งความเห็นให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลนั้น หรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ แต่ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติถึงกระบวนการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล กล่าวคือหากศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลยุติธรรมเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่ศาลปกครองกลาง ศาลชั้นต้นต้องจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองกลาง หากศาลปกครองกลางเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองกลาง ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะโอนคดีไปยังศาลปกครองกลางหรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง แต่ถ้าศาลปกครองกลางมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้ ศาลชั้นต้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลใดต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ทันทีและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้น ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้น ปัญหานี้แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วย มาตรา 246 และ 247 ฎีกาของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่สั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่