คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5847/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,288,289ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่สมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าพิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295ดังนี้ ข้อหาฐานพยายามฆ่าต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 โจทก์ฎีกาว่า จำเลยได้กระทำผิดต่อผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่นั้น เมื่อฎีกาโจทก์ต้องห้ามเสียแล้วคดีไม่อาจขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ด้วย ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาฆ่าได้ใช้ขวดตีและแทงพลตำรวจสมเด็จบุญธรรม ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและกำลังปฏิบัติหน้าที่เวรยามรักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บริเวณงานทำบุญมหาชาติ ถูกที่ศีรษะและต้นคอผู้เสียหายหลายครั้ง เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยลงมือกระทำผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายได้รับการรักษาจากแพทย์ทันท่วงที จึงไม่ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289, 80 ริบเศษขวดแตกของกลางและเพิ่มโทษจำเลยด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ (ที่ถูกน่าจะพิพากษาแก้) จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ให้จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 เป็นจำคุก 1 ปี 4 เดือน ริบของกลาง

โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288, 289

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง โดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ สมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่า ฎีกาโจทก์ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220และตามฎีกาของโจทก์ตอนท้ายที่ว่าจำเลยได้กระทำความผิดต่อผู้เสียหาย ในขณะที่ผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่อันจะทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อฎีกาโจทก์ต้องห้ามเสียแล้ว คดีจึงไม่อาจขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ด้วย

พิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์

Share