แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.อ. มาตรา 318 คำว่า ผู้ปกครองหมายถึงผู้มีฐานะทางกฎหมายเกี่ยวพันกับผู้เยาว์ เช่น บิดามารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ส่วนผู้ดูแลหมายถึงผู้ควบคุม ระวังรักษาผู้เยาว์โดยข้อเท็จจริง เช่น ครูอาจารย์ นายจ้าง เป็นต้น เมื่อผู้เสียหายที่ 1 เป็นนายจ้างประกอบกับผู้เสียหายทั้งสองเบิกความได้ความว่า บิดามารดาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ มอบให้ผู้เสียหายที่ 1 ปกครองดูแลผู้เสียหายที่ 2 ด้วย โดยผู้เสียหายที่ 1 ให้ผู้เสียหายที่ 2 พักอยู่ที่ร้านอาหารดังกล่าว ดังนี้ผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลผู้เสียหายที่ 2 ในฐานะนายจ้างโดยได้รับมอบหมายจากบิดามารดาผู้เสียหายที่ 2 ด้วย การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการรบกวนสิทธิหรือแยกสิทธิในการควบคุมดูแลผู้เสียหายที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการร่วมกันพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปจากความดูแลของผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม
ความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เสียหายที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก
ส่วนความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำคุกจำเลยในอัตราขั้นต่ำสำหรับความผิดฐานนี้ตามกฎหมายแล้ว แม้จำเลยกระทำความผิดในขณะที่มีอายุ 19 ปีเศษ แต่รู้ผิดชอบแล้วและลักษณะการกระทำความผิดไม่เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้ ตาม ป.อ. มาตรา 76
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 276, 284, 318
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 284 วรรคแรก, 318 วรรคสามประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงจำคุก 15 ปี ฐานร่วมกันพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังเกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 19 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง และมาตรา 284 วรรคแรก เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 276 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง จำคุก 15 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 3 ปี ในความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยแล้วเป็นจำคุก 18 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า ผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ปกครองผู้เสียหายที่ 2 อันจะทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปทำงานที่ร้านอาหารของผู้เสียหายที่ 1 ในฐานะผู้เสียหายที่ 1 เป็นนายจ้าง ส่วนผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในฐานะเป็นลูกจ้าง ทั้งไม่ปรากฏชัดว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้รับมอบอำนาจปกครองจากบิดามารดาผู้เสียหายที่ 2 แต่อย่างใดนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 คำว่า ผู้ปกครองหมายถึงผู้มีฐานะทางกฎหมายเกี่ยวพันกับผู้เยาว์ เช่น บิดามารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ส่วนผู้ดูแลหมายถึงผู้ควบคุม ระวังรักษาผู้เยาว์โดยข้อเท็จจริง เช่น ครูอาจารย์ นายจ้าง เป็นต้น เมื่อผู้เสียหายที่ 1 เป็นนายจ้างประกอบกับผู้เสียหายทั้งสองเบิกความได้ความว่า บิดามารดาผู้เสียหายที่ 2 มอบให้ผู้เสียหายที่ 1 ปกครองดูแลผู้เสียหายที่ 2 ด้วย โดยผู้เสียหายที่ 1 ให้ผู้เสียหายที่ 2 พักอยู่ที่ร้านอาหารดังกล่าว ดังนี้ผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลผู้เสียหายที่ 2 ในฐานะนายจ้างโดยได้รับมอบหมายจากบิดามารดาผู้เสียหายที่ 2 ด้วย การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการรบกวนสิทธิหรือแยกสิทธิในการควบคุมดูแลผู้เสียหายที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการร่วมกันพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปจากความดูแลของผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษน้อยกว่าที่จำเลยได้รับนั้น เห็นว่า ความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เสียหายที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำคุกจำเลยในอัตราขั้นต่ำสำหรับความผิดฐานนี้ตามกฎหมายแล้ว แม้จำเลยกระทำความผิดในขณะที่มีอายุ 19 ปีเศษ แต่รู้ผิดชอบแล้วและลักษณะการกระทำความผิดไม่เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.