คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5344/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ครบถ้วนภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนั้นหากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาแล้วขายทอดตลาดได้เงินไม่คุ้มหนี้และโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีอีก โจทก์จะแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้เมื่อเกินกำหนด 10 ปีแล้วไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 1พฤศจิกายน 2522 ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 33,746 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเดือนละ 5,000 บาท ทุกวันที่ 1 ของเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่1 ธันวาคม 2522 เป็นต้นไป หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา วันที่ 6 ธันวาคม 2522ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี โจทก์นำยึดสิทธิการเช่าเครื่องรับโทรศัพท์หมายเลข 3926150 ของจำเลย และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดไปแล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 ต่อมาวันที่31 พฤษภาคม 2533 โจทก์ขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยอีก และยื่นคำแถลงลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2533 อ้างว่าการบังคับคดีที่กระทำไปแล้วยังไม่คุ้มกับหนี้สินเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่า โจทก์ขอยึดทรัพย์ใหม่หลังจากหมายบังคับคดีหมดอายุแล้วและไม่มีการบังคับคดีค้างอยู่จึงไม่ไปยึด
วันที่ 25 กรกฎาคม 2533 โจทก์ยื่นคำร้องว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายการบังคับคดีของโจทก์ยังไม่เสร็จสิ้น โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้จนกว่าจะครบจำนวนหนี้ตามคำพิพากษา ปัจจุบันจำเลยเป็นหนี้ตามคำพิพากษาจักต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้น 90,188 บาท ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 90,188 บาทแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ขอให้ยึดทรัพย์สินจำเลยเพิ่มเติมเมื่อล่วงพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่ศาลพิพากษา โจทก์ย่อมหมดสิทธิ์ในอันที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยอีกต่อไป คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า การร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษานั้นโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการด้วยการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดี และแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271แล้ว หากขายทอดตลาดทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาแล้วได้เงินไม่คุ้มหนี้ และโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีอีก โจทก์ก็จะแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกำหนด 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งหาได้ไม่ มิฉะนั้นจะมีผลให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกบังคับคดีได้ไม่สิ้นสุด ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3607/2529 ระหว่างบริษัท บางกอกอินเวสท์เม้นท์ จำกัด โจทก์ นางสาว วาณี แสงแก้วกิจ กับพวก จำเลย คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2522 โจทก์แถลงขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยอีกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2533 พ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาเจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิเสธไม่ไปยึดทรัพย์สินของจำเลยชอบแล้วที่ศาลล่างวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share