คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5844/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างสองข้อว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงกันประกอบกิจการและจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยโจทก์เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนขอให้บังคับให้จำเลยร่วมรับผิดต่อเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยให้การรับว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแต่ปฎิเสธว่าไม่เคยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าหนี้ของห้างหุ้นส่วนตามฟ้องผูกพันจำเลยหรือไม่เพียงใดซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จำเลยจะสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดชอบอย่างไม่จำกัดจำนวน เพราะกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1088 วรรคหนึ่งเป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก แต่คดีนี้ไม่ใช่กรณีบุคคลภายนอกเรียกร้องให้จำเลยรับผิด เป็นเรื่องระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเองจึงต้องบังคับตามสัญญาหุ้นส่วนซึ่งเป็นข้ออ้างของโจทก์ข้อแรกไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 วรรคหนึ่งเป็นบทบัญญัติเพื่อป้องกันมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดชอบสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนเพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นของหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดหนี้ระหว่างห้างหุ้นส่วนกับบุคคลภายนอกได้ หากหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนก็ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดจำนวน บุคคลภายนอกอาจไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้ใดเป็นหุ้นส่วนจำพวกใดส่วนระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเองผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ใดเป็นหุ้นส่วนจำพวกใดและมีหน้าที่อย่างใด หากยินยอมให้มีการกระทำผิดหน้าที่ ผู้ที่ให้ความยินยอมไม่มีสิทธิจะอ้างกฎหมายมาตราดังกล่าวขึ้นบังคับผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันอย่างบุคคลภายนอกได้กรณีของผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันต้องบังคับตามสัญญาห้างหุ้นส่วน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นปี 2524 โจทก์จำเลยได้ร่วมกันประกอบกิจการค้า โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดใช้ชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดพริตติ เอ็นเตอร์ไพรส์ มีโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์จำเลยลงหุ้นเป็นเงินสดคนละ 245,000 บาทนางวนิดา ยาเฟอร์ ภริยาโจทก์ลงหุ้นเป็นเงินสด 100,000 บาทในการดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวจำเลยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนแสดงตนให้คนทั่วไปเข้าใจว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต่อมาเมื่อปี 2528 โจทก์จำเลยตกลงหยุดกิจการแต่มิได้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วน โจทก์จำเลยได้ตกลงแบ่งทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนกันไปแล้วต่อมาปี 2531 กรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดพริตติเอ็นเตอร์ไพรส์ ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2528 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2528 เพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,729,008 บาท โจทก์ได้ผ่อนชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่กรมสรรพากรไปแล้ว การที่จำเลยสอดเข้าเกี่ยวข้องในการจัดการงานของห้างหุ้นส่วน และได้รับการแบ่งทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนไปจำเลยจึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวครึ่งหนึ่ง เป็นจำนวน 864,504 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดพริตติ เอ็นเตอร์ไพรส์ โดยรับผิดชอบไม่เกินจำนวนเงินที่จำเลยลงหุ้นคือ 245,000 บาท จำเลยไม่เคยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน แต่ในบางครั้งจำเลยกระทำกิจการของห้างหุ้นส่วนไปตามคำสั่งของโจทก์ แม้หากจะฟังว่าจำเลยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ก็เป็นเรื่องที่จำเลยต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ต่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดจำนวนแต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันจำเลยต้องรับผิดชอบไม่เกินจำนวนเงินที่ลงหุ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 245,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาข้อแรกว่าโจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแหล่งข้อหาให้จำเลยรับผิดในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแต่ได้สอดเข้าไปจัดกิจการของห้างหุ้นส่วน จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีเงินได้ที่กรมสรรพากรเรียกเก็บเอาจากห้าง แต่ทางพิจารณาไม่ได้ความว่าภาษีเงินได้เป็นหนี้ที่เกิดจากการที่จำเลยสอดเข้าไปจัดการ ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดตามสัญญาหุ้นส่วนจึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 นั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาสองข้อคือ ข้อแรกโจทก์จำเลยได้ตกลงกันประกอบกิจการและจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยโจทก์เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดชอบได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ขอให้บังคับให้จำเลยร่วมรับผิดต่อเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่จำกัดจำนวน จำเลยให้การรับว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดชอบแต่ปฎิเสธว่าไม่เคยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าหนี้ของห้างหุ้นส่วนตามฟ้องผูกพันจำเลยหรือไม่เพียงใด ซึ่งศาลล่างทั้งสองแม้จำเลยจะสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดอย่างไม่จำกัดจำนวน เพราะกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 วรรคหนึ่งเป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกแต่คดีนี้ไม่ใช่กรณีบุคคลภายนอกเรียกร้องให้จำเลยรับผิด เป็นเรื่องระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเอง จึงต้องบังคับตามสัญญาหุ้นส่วนซึ่งเป็นข้ออ้างอิงที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ข้อแรก ฉะนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยดังกล่าวจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องฎีกาจำเลยอีกข้อหนึ่งว่า เหตุที่ห้างหุ้นส่วนถูกเรียกเก็บภาษีเป็นเพราะความผิดของโจทก์ ข้อนี้โจทก์นำสืบว่า งานด้านบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำเลยได้ว่าจ้างนายเจริญชัย ประกอบกิจเจริญ เป็นผู้ทำบัญชีและเสียภาษีนิติบุคคล การเสียภาษีต่าง ๆ จำเลยได้มอบหมายให้นายเจริญเป็นผู้ดำเนินการ จำเลยเบิกความเป็นพยานรับว่าทราบว่าโจทก์จ้างสำนักงานบัญชีทำการยื่นเสียภาษีแทน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทราบตลอดมาว่าโจทก์ได้จ้างผู้อื่นดำเนินการยื่นเสียภาษีแทนห้างหุ้นส่วน ฉะนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าเหตุที่ห้างหุ้นส่วนถูกเรียกเก็บภาษีเป็นความผิดของโจทก์โดยตรง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาข้อเดียวว่า กรณีของโจทก์เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่าถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใด สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวนจำเลยจึงต้องร่วมรับผิดชอบในบรรดาหนี้ทั้งหมดที่ได้เกิดขึ้นโดยไม่จำกัดจำนวนนั้น เห็นว่าการที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นของหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดหนี้ระหว่างห้างหุ้นส่วนกับบุคคลภายนอกได้ ฉะนั้นหากหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนก็ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดจำนวน บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเพื่อครองบุคคลภายนอก เนื่องจากบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้ใดเป็นหุ้นส่วนจำพวกใด ส่วนระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเองผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ใดเป็นหุ้นส่วนจำพวกใดและมีหน้าที่อย่างใด หากยินยอมให้มีการกระทำผิดหน้าที่ ผู้ที่ให้ความยินยอมไม่มีสิทธิจะอ้างกฎหมายมาตราดังกล่าวขึ้นบังคับผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันอย่างบุคคลภายนอกได้ กรณีของผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันต้องบังคับตามสัญญาห้างหุ้นส่วน ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share