คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน โดยกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดไว้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้างนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า งานที่โจทก์ทำมีลักษณะเป็นงานถาวรมิใช่เป็นงานครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการการเลิกจ้างไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้าง จำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป ก็ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 จำเลยต้องชดใช้ค่าชดเชยแก่โจทก์ ปัญหาว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการหรือไม่นั้น จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องเป็นฝ่ายยกขึ้นต่อสู้คดีไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องบรรยายมาในคำฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้ยกเรื่องดังกล่าวขึ้นต่อสู้คดี จึงไม่มีประเด็นที่ศาลจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและมิได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน คือ มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง 11 เดือน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วจำเลยมิได้ต่อสัญญาจ้างแรงงานให้โจทก์ สัญญาจ้างดังกล่าวจึงสิ้นสุดลงจำเลยจึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้ว จำเลยมิได้ต่อสัญญาให้แก่โจทก์ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต่อสัญญาให้จึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า งานที่โจทก์ทำเป็นการผลิตกระบอกไฟฉายและหลอดไฟฉายเพื่อส่งออก ลักษณะงานเป็นงานถาวร มิใช่เป็นงานครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ การเลิกจ้างของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 3,450 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนเมื่อสัญญาจ้างครบกำหนดถือว่าสภาพการจ้างได้สิ้นสุดลง ไม่มีการให้ออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน จึงไม่มีการเลิกจ้างเห็นว่า การที่จะวินิจฉัยว่ากรณีใดจะเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างนั้น ต้องพิจารณาตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515ข้อ 46 แก้ไขโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 ซึ่งกำหนด “ข้อ 46 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังนี้
(1) ฯลฯ
(2) ฯลฯ
(3) ฯลฯ
การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 หรือในกรณีที่นายจ้างไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานเกินเจ็ดวันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่จ่ายค่าจ้างให้ ถ้าปรากฏว่านายจ้างมีเจตนาจะไม่จ้างลูกจ้างนั้นทำงานต่อไป หรือกลั่นแกล้งลูกจ้าง ให้ถือเป็นการเลิกจ้างด้วย
ความในข้อนี้มิให้ใช้บังคับแก่การจ้างลูกจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือโดยมีกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ และให้หมายความรวมถึงกรณีที่สัญญาจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้วแต่งานยังไม่แล้วเสร็จหากนายจ้างและลูกจ้างจะตกลงต่อสัญญาจ้างกันอีกระยะเวลาการจ้างทั้งสิ้นรวมแล้วจะต้องไม่เกินระยะเวลาการจ้างตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรกด้วย” ตามข้อกำหนดดังกล่าวเห็นได้ว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งประกาศใช้โดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 15มีนาคม 2515 ข้อ 2 จึงมีผลบังคับอย่างกฎหมาย ถือว่าในกรณีที่มีการทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นหนังสือโดยกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้และนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะครบกำหนดระยะเวลาการจ้างนั้น เป็นการเลิกจ้างตามความหมายของคำว่าเลิกจ้างในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46ดังกล่าวแล้วเพราะถ้าไม่หมายความเช่นนั้นคือถือว่าไม่เป็นการเลิกจ้างแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นข้อยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง ในกรณีทำสัญญาจ้างกันเป็นหนังสือให้ทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ และได้กำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้เพราะเมื่อถือว่าไม่เป็นการเลิกจ้าง นายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างอยู่แล้วตามความในตอนต้นของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 ที่ว่า “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังนี้ ฯลฯ” ซึ่งหมายความว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างก็เฉพาะกรณีที่มีการเลิกจ้างเท่านั้นดังนี้ แม้การจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจะได้ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือและมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนโดยกำหนดวันเริ่มต้น และวันสิ้นสุดการจ้างไว้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้างและจำเลยไม่ได้ให้โจทก์ทำงานต่อไป ก็ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11)ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนและโจทก์ออกจากงานตามสัญญา ศาลแรงงานกลางจะต้องพิพากษายกฟ้อง จะวินิจฉัยว่างานที่จ้างไม่ใช่งานครั้งคราว ไม่เป็นการจร ไม่ใช่งานตามฤดูกาล ไม่ใช่งานตามโครงการ ไม่ได้ เป็นการนอกฟ้องเพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้ ขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความนั้น เห็นว่า ในปัญหาว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ จำเลยเป็นสัญญาจ้างให้ทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่มีการจ้างให้ทำงานดังกล่าวโดยทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือและกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการจ้างไว้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องเป็นฝ่ายยกขึ้นต่อสู้คดี ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องบรรยายมาในคำฟ้อง เมื่อคดีนี้จำเลยมิได้ยกเรื่องดังกล่าวขึ้นต่อสู้ จึงไม่มีประเด็นที่ศาลแรงงานกลางจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เพราะเมื่อไม่มีข้อเท็จจริงที่จะฟังว่าการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการจ้างให้ทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจรเป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ อันเป็นข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์แล้ว จำเลยซึ่งเลิกจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11)ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share